"พรรคส้ม" เปิดอีกมุม! กางข้อมูลต่างชาติเที่ยวสงกรานต์ลดลงจากปีก่อนเกือบ 10%

พรรคประชน อ้างอิงเฟซบุ๊กเพจของพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 6-12 เม.ย. 68 รวมทั้งสิ้น 666,180 คน เฉลี่ยวันละ 95,169 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ถึง 10.73% ซึ่งบ่งบอกได้ว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีความคึกคัก ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 เม.ย. 68 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมรวม 10,738,424 คน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 516,589 ล้านบาท


นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคประชาชน มองว่า อยากให้พิจารณาข้อมูลอย่างครบถ้วน แล้วอาจจะเห็นภาพที่เปลี่ยนไป โดยหากอ้างอิงข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อปีที่แล้ว (8-14 เม.ย. 67) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทย 735,802 คน เฉลี่ย 105,115 คน/วัน ขณะที่ในปีนี้ (7-13 เม.ย. 68) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยเพียง 666,180 คน เฉลี่ย 95,169 คน/วัน ซึ่งไม่ทะลุแสนคน/วัน เมื่อเทียบกัน 2 ปี (67-68) จะพบว่าในปี 68 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวลดลงถึง 9.46% ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

นายเดชรัต กล่าวว่า "โจทย์ใหญ่" คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 ลดลง 32% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเข้ามาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 ลดลงถึง 45% ส่วนประเทศที่เพิ่มขึ้น คือ อันดับ 3 อินเดีย เพิ่มขึ้น 53% และอันดับ 4 รัสเซีย ที่เพิ่มขึ้น 16%

ทั้งนี้ ถ้าเห็นข้อมูลรอบด้านมากขึ้น คงเข้าใจว่าตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่น่ายินดี แต่เป็นตัวเลขที่ต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในไทย ลดลงมาตั้งแต่เดือนก.พ. และมี.ค. 68 ที่ผ่านมา โดยในเดือนก.พ. ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน เดือนมี.ค. ลดลง 9% และในครึ่งแรกของเดือนเม.ย. ก็ยังลดลงอีก โดยในปี 67 มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 96,688 คนต่อวัน แต่ปี 68 มีนักท่องเที่ยว 91,494 คนต่อวัน ลดลง 5.4% ซึ่งจำเป็นต้องรีบช่วยกันแก้ปัญหานี้ ก่อนที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจนี้จะช็อตไปอีก


ด้านนายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคประชาชน กล่าวว่า เมื่อเทียบตัวเลขนักท่องเที่ยว 2 ปี จะเห็นได้ชัดว่าลดลง ซึ่งผิดคาดไปจากที่รัฐบาลคิดว่าเมื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิดแล้ว ตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุหลักที่นักท่องเที่ยวจีนหายไปก็เพราะเหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงจีนไปเข้าร่วมขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์

"การหลอกลวงในบ้านเรา มากเสียจนเขาไม่กล้ามา ซึ่งสะท้อนว่า การตลาดเชิงรุกที่ภาครัฐไทยพยายามทำ ยังไม่สามารถลบล้างภาพลักษณ์ด้านลบได้สำเร็จ" นายณัฐพล ระบุ

ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป เช่น สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต่างชาติมีความกังวล ไม่อยากมาเพราะไม่อยากเจอฝุ่น รวมถึงเหตุผลด้านเศรษฐกิจโลกที่เริ่มจะไม่มั่นคง เอาแน่เอานอนกับสหรัฐฯ ไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้กระเป๋าสตางค์ของคนทั้งโลกแฟบลง นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดจากการให้ฟรีวีซ่า ก็นำมาซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไม่เคารพคน ไม่เคารพกฎระเบียบของบ้านเรา ถึงแม้อาจจะมีกรณีไม่มาก แต่เมื่อถูกสื่อสารออกไป ก็ทำให้ภาพลักษณ์ด้านลบของประเทศไทยถูกกระจายออกไปแล้ว

นายณัฐพล กล่าวว่า ความจริงแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างรับทราบถึงแนวโน้มการถดถอยนี้ และมีความพยายามที่จะรับมือ แต่ผลยังไม่ปรากฏเท่าที่ควร โดยตนมีข้อคิดเห็นต่อนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐด้านการท่องเที่ยว ดังนี้

1. การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Destination) อย่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คงไม่เกิดเร็ว ๆ นี้ ต้องใช้เวลาในการถกเถียงและก่อสร้างอีกยาวนาน แต่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในไทย ยังมีอีกมากที่ทำให้ดีกว่านี้ได้ คนไทยจะได้เที่ยวที่ใหม่ ๆ และหยิบมาโฆษณาขายชาวต่างชาติได้

2. ปีที่แล้ว รัฐบาลออกโครงการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่ก็มีข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ออกใบกำกับภาษีไม่ได้ ส่วนโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ก็ยังไม่เคาะวงเงินที่รัฐจะใช้ ต้องคำนวณให้ดีว่าจะสร้างการหมุนเวียนเท่าไร คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปหรือไม่

3. ขอให้รัฐบาลถือโอกาสนี้ มาโฟกัสที่คุณภาพชีวิตดี ๆ มาตรฐานการท่องเที่ยวดี ๆ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองรอง การคมนาคมเชื่อมโยงที่สะดวกขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งคนไทย และคนต่างชาติ

4. กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่สร้างการเดินทาง (Non-leisure Activities) เช่น การจัดประชุม การรักษาพยาบาล การมาเรียน การมาทำงาน งานกีฬา และกองถ่ายต่างประเทศ เป็นต้น กิจกรรมประเภทนี้มีหน่วยงานประจำทำอยู่แล้ว แต่ได้รับงบประมาณน้อย รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงนี้

5. การยกระดับเทศกาลไทยสู่ระดับโลกเพื่อดึงคน แนวคิดนี้ถูกต้องแล้ว ซึ่งไทยมีสงกรานต์กับลอยกระทง แต่เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมารัฐบาลเคาะงบประมาณล่วงหน้าแค่ 1 เดือนครึ่งก่อนถึงวันงาน ส่วนการประชาสัมพันธ์ก็ล่าช้ามาก จึงไม่แน่ใจว่างานของรัฐบาลได้กระตุ้นให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้นแค่ไหน แต่ปีนี้ยังมีโอกาสที่งานลอยกระทง ซึ่งกลางปีนี้รัฐบาลควรจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ได้แล้ว อย่าปล่อยให้ล่าช้า

6. รัฐบาลมีคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งคณะท่องเที่ยวและคณะภาพยนตร์-ซีรีส์-สารคดี เราควรส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือคอนเทนต์เพื่อสร้างความหลงใหลให้คนอยากมาเที่ยวประเทศไทย และสอดแทรกภาพลักษณ์เชิงบวก เพื่อไปสู้กับภาพลักษณ์เชิงลบที่เกิดจากการแพร่กระจายข่าวระหว่างนักท่องเที่ยวด้วยกัน


นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย เปิดเผยสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 68 หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงเฉลี่ย 10,000-15,000 คน/วัน ในช่วง 3 สัปดาห์แรก และน่าจะยังมีผลกระทบอีก 6 สัปดาห์ ในระดับ 7,000-8,000 คน/วัน รวมนักท่องเที่ยวลดลงไปกว่า 550,000 คน รายได้ท่องเที่ยวหายไปกว่า 2.75 หมื่นล้านบาท

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 10-15 เม.ย. 68 มีดังนี้

วันที่ 10 เม.ย. ที่ 91,771 คน

วันที่ 11 เม.ย. ที่ 124,220 คน

วันที่ 12 เม.ย. ที่ 122,984 คน

วันที่ 13 เม.ย. ที่ 93,145 คน

วันที่ 14 เม.ย. ที่ 75,788 คน

วันที่ 15 เม.ย. ที่ 62,702 คน

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 เม.ย. 68 อยู่ที่ 10.81 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.84% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ตลาดจีนลดลง 27% ทั้งที่เดือนม.ค. เพิ่ม 20% ส่วนตลาดมาเลเซีย ลดลง 3.63% โดยตลาดจีนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ลดไปกว่า 45-50% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 18,000-20,000 คน/วัน เหลือ 8,000-11,000 คน/วัน

"ตลาดที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ตลาดจีน ที่ sensitive เรื่องความปลอดภัย และตลาดเกาหลีใต้ โดยนักท่องเที่ยวจากทั้ง 2 ชาติ หันไปเที่ยวประเทศคู่แข่ง เช่น ญี่ปุ่น และเวียดนามแทนอย่างชัดเจน" นายกิตติ กล่าว