ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะผู้ส่งออกเหล็กไทยไป EU เริ่มเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ EU-CBAM เพื่อรายงาน รวมถึงการนำต้นทุนค่า CBAM certificate ไปชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าในการลงทุน เพื่อปรับกระบวนการผลิต หลังมาตรการ EU-CBAM กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านใน ต.ค.นี้ ก่อนเก็บจริงในปี 69
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU-CBAM) ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ในเดือน ต.ค. 66 นี้ มีรายละเอียดเปิดเผยออกมามากขึ้น แม้จะยังคงต้องรอข้อสรุปในบางประเด็น แต่ก็นับว่าสิ่งที่ผู้ส่งออกเหล็กไทยต้องดำเนินการ เพื่อแจ้งข้อมูลไปยังผู้นำเข้าฝั่ง EU จะมีความซับซ้อนไม่น้อย โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่มีผลต่อการคำนวณค่า CBAM certificate
ในส่วนของผู้ประกอบการที่เคยมีการขอรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product: CFP) แล้ว คงสามารถใช้ประโยชน์จากบางข้อมูลในการคิดคำนวณ CBAM certificate ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูล Carbon footprint มาก่อนเลย โดยเฉพาะรายกลางและรายเล็ก (SMEs) คงจะต้องใช้ค่ากลาง (Default values) ของ EU ไปก่อน
ทั้งนี้ ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านไปจนถึงการเก็บจริงในปี 69 ผู้ส่งออกเหล็กไทยที่ทราบต้นทุน CBAM certificate แล้วบางส่วน อาจพิจารณานำต้นทุนดังกล่าวไปชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าของการลงทุนในทางเลือกต่าง ๆ เพื่อปรับกระบวนการผลิตที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ว่าควรดำเนินการอย่างไรในขั้นต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในภาพรวม อุตสาหกรรมเหล็กส่งออกของไทยไปยัง EU จะมีต้นทุนค่า CBAM certificate ณ วันนี้ ในเบื้องต้นอย่างน้อยราว 1.5-1.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล็กรวมจากไทยไปยัง EU ตามรายการ CBAM หรือคิดเป็นมูลค่าในกรอบราว 167-193 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ส่งออกเหล็กไทยไป EU อาจต้องจ่ายค่า CBAM certificate ที่ราว 1,338-1,545 บาท/ตันเหล็ก
อย่างไรก็ดี ตัวเลขข้างต้น เป็นการประเมินเพื่อให้เห็นภาพขอบเขตผลกระทบของอุตสาหกรรมเหล็กส่งออกของไทยไป EU จากมาตรการนี้เท่านั้น แต่ค่า CBAM certificate ที่จะต้องจ่ายจริงตั้งแต่ปี 69 อาจยังขึ้นกับหลายตัวแปร ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายคงมีต้นทุนไม่เท่ากัน
ดังนั้น ท่ามกลางปัจจัยเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ผู้ส่งออกเหล็กไทยไป EU ต้องพิจารณาจังหวะเวลา และเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการลงทุนปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทางเลือกที่มี และต้นทุนค่า CBAM certificate ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีก
ในอนาคตข้างหน้า นอกจากภาคธุรกิจจะต้องเริ่มปรับตัวแล้ว แรงสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำระบบกลไกราคาคาร์บอน (Carbon pricing) ให้ได้มาตรฐานสากล การใช้มาตรการภาษีคาร์บอน และการจัดทำค่ากลางเพื่อใช้เป็น Benchmark ของไทย ก็นับว่ามีความจำเป็น เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่า CBAM certificate และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศและทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 66)
Tags: CBAM, EU, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ส่งออกเหล็ก