นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ส่งคืนร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … จากการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้คำวินิจฉัยว่า กทม. ไม่มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติดังกล่าว และให้กทม. หารือกรมการขนส่งทางบก เพื่อออกข้อบัญญัติ ซึ่งในภาพรวมทุกฝ่ายอยากเห็นสภาพอากาศที่ดีขึ้น จึงต้องขอส่งข้อบัญญัติฉบับนี้คืนกับสภากทม.
“การดำเนินการของกทม. ในขั้นตอนต่อไป จะได้นำเรื่องนี้ไปหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และรัฐบาล เพราะสุดท้ายคือต้องการให้มีรถ EV ให้มากขึ้น เพื่อให้อากาศสะอาดและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนต่อไป” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ขณะที่ประธานสภากทม. กล่าวว่า การที่สภากทม. เป็นห่วงสุขภาพประชาชนเป็นเรื่องที่ดี และทุกคนเห็นชอบร่วมกัน การส่งคืนเรื่องของผู้ว่าฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นไปตามที่ข้อกฎหมายรองรับอยู่ โดยคำสั่งของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ว่า หากมีเรื่องในทางกฎหมาย และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีให้ความเห็น หากกฤษฎีกาให้ความเห็นมาแล้วให้หน่วยงานถือปฏิบัติ ซึ่งในเรื่องข้อบัญญัติ เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … นี้ ให้ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากไม่ใช่อำนาจของกทม.
ด้าน นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ในฐานะผู้ที่ยื่นข้อบัญญัตินี้ รู้สึกเสียใจที่ร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ไม่ผ่าน ซึ่งเรื่องที่กทม. จะทำได้ อาจต้องส่งจดหมายไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอให้มอบอำนาจให้กทม. ออกข้อบัญญัตินี้เองได้ หรือประสานกรมการขนส่งทางบก อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่กำหนดให้เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด หากผ่านไปได้จะถือเป็นผลงานที่สำคัญของสภากทม. และฝ่ายบริหารที่จะผ่านข้อบัญญัติอากาศบริสุทธิ์เพื่อประชาชนทุกคน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)
Tags: คณะกรรมการกฤษฎีกา, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ผู้ว่าฯ กทม., พลังงานไฟฟ้า, รถเมล์, รถเมล์ EV