บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ยังคงมีทิศทางสดใสหลังจากดัชนีฯสามารถกลับมายืนเหนือ 1,600 จุดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ท่ามกลางข่าวดีรัฐบาลของไทยเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้ประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยแรงผลักดันดัชนีฯให้กลับตัวขึ้นมารอบนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงซื้อของกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกมีมูลค่าซื้อสุทธิรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาทนับตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
สวนทางกับผู้ลงทุน 2 กลุ่มใหญ่อย่างผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะยังคงมีสถานะขายสุทธิ แต่เริ่มเห็นแรงซื้อที่สลับกลับเข้ามาเป็นระยะบ้างแล้ว ทำให้ช่วงครึ่งปีหลังกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนต่างชาติจะมีโอกาสกลับมาซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ และอัพไซด์ที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทยภายในปีนี้จะมีโอกาสไปแตะ 1,700 จุดเหมือนอย่างกับที่ผู้ลงทุนคาดหวังได้แค่ไหน
กลุ่มผู้ลงทุนมูลค่าซื้อขายสุทธิ ตั้งแต่ 4 ม.ค.-8 มิ.ย.64 (YTD)
นักลงทุนภายในประเทศ | + 100,273 ล้านบาท |
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ | + 2,695 ล้านบาท |
นักลงทุนต่างชาติ | – 62,479 ล้านบาท |
นักลงทุนสถาบัน | – 40,490 ล้านบาท |
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สาเหตุที่ปริมาณซื้อขายของผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 5 เดือนแรกจนทะลุ 1 แสนล้านบาท เป็นผลจากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยหลังจากคนไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีน โดยนักลงทุนโยกเงินเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนที่ดีหรือเรียกว่า “Search for yield” เพื่อเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง สะท้อนจากการเสียงตอบรับจากลูกค้าที่มีสัดส่วนการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น
สอดคล้องกับจำนวนผู้ลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นโดดเด่น บางส่วนนำไปซื้อกองทุนรวม และบางส่วนก็นำมาลงทุนด้วยตัวเอง โดยพบว่าจำนวนผู้เปิดบัญชีใหม่ล่าสุดมีกว่า 4.3 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นนักลงทุนบุคคลประมาณ 2.6 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากต้นปี 63 มีจำนวนกว่า 1.8 ล้านราย จำนวนบัญชีมีประมาณ 2.7 ล้านบัญชี ส่วนบัญชีผู้ลงทุนที่มีการเคลื่อนไหวก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจากต้นเดือน ม.ค.2563 ที่มีกว่า 3 แสนบัญชีแต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 7.5 แสนบัญชี
ประกอบกับ เม็ดเงินจากกลุ่มผู้ลงทุนที่ใช้ Block trade ล่าสุดมีวงเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 2 ปีคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสจะขยับขึ้นไปที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาทตามบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น
“วันนี้ตลาดหุ้นไทยมี New money ก้อนใหม่เข้ามามาก และยังมีสภาพคล่องในประเทศที่เป็นพลังแฝงเป็นตัวแปรที่จะผลักดันตลาดหุ้นไทยในอนาคตนั้นคือปริมาณเงินฝากอยู่ในระบบกว่า 15 ล้านล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำ ขณะเดียวกันยังสามารถคาดหวังสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากผู้ลงทุนต่างชาติ เนื่องจากล่าสุดเห็นสัญญาณแรงซื้อของกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติแล้วเป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) ทำให้มีปริมาณเม็ดเงินไหลเข้าใน EM ดีสุดรอบ 3 เดือน มีความเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นไทยจะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง”
นายประกิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่จะปลดล็อกให้เม็ดเงินฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทยชัดเจนนั้นคือตัวเลขเศรษฐกิจไทยต้องกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ดังนั้นคงต้องติดตามแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยว่าจะดำเนินการได้รวดเร็วแค่ไหน ซึ่งเบื้องต้นวิเคราะห์ตามแผนของรัฐบาลเชื่อว่าช่วงไตรมาส 3/64 ความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเกิดการเร่งขยายการลงทุนผ่านระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริงและอาจนำไปการปรับประมาณเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ได้เช่นกัน
นายประกิต กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีโอกาสสูงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะสามารถทะยานขึ้นไปทดสอบ 1,650-1,700 จุดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นแล้ว มุมมองด้าน Valuation หรือปัจจัยพื้นฐานมีส่วนช่วยสนับสนุนด้วย หลังจากบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทย (EPS) จากปีนี้อยู่ที่ 83.23 บาทต่อหุ้น ส่วนปี 64 จะเพิ่มเป็น 95.23 บาทต่อหุ้น หากผู้ลงทุนขยับมาซื้อขายบน EPS ปี 64 คำนวณบน Forward P/E จะอยู่ที่ 18 เท่าดัชนีตลาดหุ้นไทยก็สามารถแตะที่ระดับ 1,700 จุด
“แม้ว่าวันนี้ตลาดหุ้นไทยจะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง แต่ถูกผลักดันด้วยหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวจึงมีความกังวลและอยากเตือนผู้ลงทุนระยะสั้นเข้าไปเก็งกำไรหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่ปัจจุบันราคาปรับตัวขึ้นสูงเกินกว่าความคาดหวังมากเกินไป สวนทางกับหุ้นขนาดใหญ่ ปัจจุบันปรับตัวขึ้นค่อนข้างช้า โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มองว่ารอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่อาจต้องรอฟันด์โฟลว์เข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังอีกครั้งมีโอกาสที่จะเห็นชัดเจนในครึ่งปีหลัง”
นายประกิต กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)
Tags: การลงทุน, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, ประกิต สิริวัฒนเกตุ, สัมภาษณ์พิเศษ, หุ้นไทย, เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์