น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโควิด-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล สำหรับการนำเข้าและบริจาค ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 หลังจากที่มาตรการเดิมสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
สำหรับรายละเอียดตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโควิด-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศลครั้งนี้ กระทรวงการคลังจะตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยมีหลักการดังนี้คือ
- ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโควิด-19 เพื่อบริจาคให้แก่ สถานพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย สถานพยาบาลของทางราชการ สถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐ สถานพยาบาลขององค์การมหาชน สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์การของรัฐบาล หรือ หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของสถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสถานพยาบาลของสภากาชาดไทย รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐ และองค์กรหรือสถานสาธารณกุศลหรือสถานพยาบาลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศ
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้สถานพยาบาลตามข้อ 1 โดยต้องไม่นำต้นทุนของสินค้ามาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาดังกล่าว คาดว่า จะทำให้สูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 15 ล้านบาท แต่จะมีประโยชน์คุ้มค่าในการช่วยสนับสนุนการรักษา การวินิจฉัย และการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ และยังช่วยจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 64)
Tags: ครม., ภาษี, ยกเว้นภาษี, ยารักษา, เครื่องมือแพทย์, เวชภัณฑ์, ไตรศุลี ไตรสรณกุล