นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก “Yong Poovorawan” กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิดว่า ทั่วโลกมีประชากร 7,000 ล้านคน ถ้าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาได้ ต้องมีการฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 5,000 ล้านคน หรือประมาณ 10,000 ล้านโดส
ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกได้รับวัคซีนไปแล้วเกือบ 1,500 ล้านโดส หรือ 15% ของเป้าหมาย และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่เป็นเจ้าของวัคซีน เช่น จีน อเมริกา และยุโรป ถึงแม้ว่าอินเดียจะระดมฉีดวัคซีนกันขนาดใหญ่ก็ยังไม่สามารถไล่ทันการระบาดของโรคในประเทศได้
ในขณะนี้ การฉีดวัคซีนทั่วโลกเฉลี่ยวันละไม่ถึง 25 ล้านโดส ถ้าด้วยอัตราการฉีดขณะนี้ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะได้เป้าหมายทั่วโลก นอกจากว่า มีอัตราการเร่งผลิตและฉีดให้ได้มากกว่านี้อีก 1 เท่าตัว ก็สามารถบรรลุเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้
สำหรับประเทศไทย ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2.26 ล้านโดส หรือได้ประมาณ 2.2% ของเป้าหมายที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน 100 ล้านโดส ซึ่งเป้าหมายที่ต้องต้องฉีดให้คนไทยประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 300,000 โดสภายในสิ้นปีนี้ ถือเป็นงานใหญ่มากสำหรับประเทศไทย
“สิ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าใจ โดยเฉพาะการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในคนที่มีอายุน้อย หรือวัยทำงาน โอกาสจะเป็นไข้ ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตัวเหมือนไข้หวัดใหญ่จะสูงมากกว่าผู้สูงวัย ซึ่งที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในผู้สูงวัย ยังไม่ค่อยเห็นใครบ่นเรื่องไข้หลังฉีดวัคซีน”
นพ.ยง แนะนำว่า การฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะในวัยทำงานหรือที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ให้เตรียมยาพาราเซตามอลไว้ได้เลย เมื่อฉีดแล้วกลับถึงบ้านกินเลยก็สามารถทำได้
นอกจากนี้ จากการศึกษาที่ศูนย์ฯ ให้วัคซีนในกลุ่มอายุน้อยจะมีโอกาสเป็นไข้เกิดขึ้นได้มากกว่า และบางคนอาจจะมีบวมแดงบริเวณฉีด ถือเป็นปฏิกิริยาของวัคซีนที่เป็นเรื่องที่พบได้ปกติ และขอไม่ต้องตกใจ อาการดังกล่าวจะอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปอาการไข้จะอยู่ 24 ชั่วโมง และมีน้อยที่จะเป็นถึง 2 วัน และน้อยมากๆที่จะถึง 3 วัน
และจากการศึกษาของเราพบว่า ผู้ที่มีอายุน้อยและมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนมาก จะมีภูมิต้านทานที่สูง จึงไม่แปลกที่ผู้หญิงมีภูมิต้านทานสูงกว่าผู้ชาย ผู้ที่มีอายุน้อยจะมีภูมิต้านทานสูงกว่าผู้ที่มีอายุมากหรือผู้สูงวัย และถ้าหากทุกคนเตรียมตัว ก็จะได้ไม่ตื่นตระหนกถึงอาการที่เกิดขึ้น นอกจากว่ามีอาการมากก็ต้องพบแพทย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, ฉีดวัคซีน, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19