ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ยันไม่เลื่อนประชุมถกงบปี 65 เหตุติดเงื่อนไขกรอบเวลา

นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ วันที่ 27 พ.ค.64 จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด 2 ฉบับก่อน ซึ่งหากไม่แล้วเสร็จจะดำเนินการต่อในวันที่ 28 พ.ค.64 จากนั้นในวันที่ 31 พ.ค.ถึงวันที่ 2 มิ.ย.64 จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระแรก

ส่วนกรณีที่มี ส.ส.ส่วนหนึ่งขอให้เลื่อนการประชุมออกไปเพื่อความปลอดภัยนั้น นพ.สุกิจ ชี้แจงว่า เนื่องจากกฎหมายมีเงื่อนไขของกำหนดเวลาบังคับไว้ และไม่สามารถรับรองได้ว่าเมื่อเลื่อนแล้ว สถานการณ์ในอนาคตจะดีขึ้นหรือไม่ แต่รัฐสภามีมาตรการที่มีความเข้มงวดอยู่แล้ว และต้องขอความร่วมมือ ส.ส.ให้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่ง ส.ส.ส่วนหนึ่งก็ยังไม่เข้ารับการฉีด จึงประสานกระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยอำนวยความสะดวก กระจายวัคซีนไปฉีดในจังหวัดของตนเอง ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งขณะนี้มี ส.ส.เข้ารับวัคซีนแล้วประมาณ 200 คน จากทั้งหมดกว่า 480 คน ทั้งนี้ไม่สามารถไปบังคับให้ ส.ส.เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะมีมาตรการรองรับต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เตรียมกำหนดมาตรการสำหรับผู้ติดตาม ส.ส. และพลขับ ซึ่งไม่สามารถดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนได้ แต่ขอ ส.ส.ให้ลดจำนวนผู้ติดตาม และพลขับให้เหลืออย่างละ 1 คน และจะต้องมั่นใจว่า ผู้ติดตามของตนต้องปลอดจากเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจจะให้กักตัวก่อนทำหน้าที่หรือมีใบรับรองไม่พบเชื้อโควิด-19 เพราะหากผิดพลาดกรณีเดียวก็จะส่งผลต่อส่วนรวมทันที โดยสภาฯ จะจัดพื้นที่แยกส่วนสำหรับผู้ติดตาม และพลขับไว้เป็นการเฉพาะ

ส่วนมาตรการสวมหน้ากากอนามัยภายในรัฐสภา และระหว่างการประชุมนั้นยังคงยืนยันตามเดิมคือ ทุกคนที่เข้ามาภายในรัฐสภาจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ระหว่างการประชุม และมีการอภิปราย หรือแสดงความเห็น ก็ขอความร่วมมือให้ ส.ส.สวมใส่หน้ากากอนามัยระหว่างการอภิปราย หรือหากไม่สะดวกก็สามารถขออนุญาตประธานการประชุม เพื่อให้ประธานการประชุมพิจารณาว่า จะอนุญาตให้ถอดหน้ากากหรือไม่ โดยห้าม ส.ส.มานั่งรวมตัวกัน ระหว่างที่ ส.ส.พรรคตนเองกำลังอภิปราย

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังคณะรัฐมนตรีให้ลดจำนวนผู้ติดตาม และจำนวนเจ้าหน้าที่จากกระทรวงที่จะเข้ามาสนับสนุนข้อมูลระหว่างการพิจารณางบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด และจะต้องกลั่นกรองบุคคลที่จะต้องเข้ามาด้วยว่า จะต้องปลอดเชื้อโควิด-19 เพราะสภาฯ ไม่อาจสามารถรับมือบุคคลภายนอกจากแต่ละกระทรวงได้ทั้งหมด โดยสภาฯ จะอำนวยความสะดวกช่องทางการสื่อสารผ่านอิเลคทรอนิกส์ให้มากที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top