สอวช.เตรียมผลักดันบีซีจีโมเดลฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) เปิดเผยว่า เตรียมส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy Mode ซึ่งกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย โดยเริ่มตั้งแต่การจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนสำคัญอย่างไร จะต้องลงทุนอย่างไร ต้องมีการประสานงานในเชิงนโยบายกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะเสริมสร้างเรื่องแรงจูงใจในการขับเคลื่อนในเชิงของการลงทุน

ทั้งนี้เชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีจะเป็นแนวทางในการช่วยฟื้นฟูประเทศได้ แต่การดำเนินงานส่วนหนึ่งต้องมีการปรับลำดับความสำคัญ โดยตามลักษณะพื้นฐานของโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องของโรคอุบัติใหม่ แล้วขณะนี้ก็กลายเป็นโรคอุบัติซ้ำ คือการเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายระลอก ทำให้เกิดผลกระทบหลายมิติตามมา ไม่ว่าจะเป็น มิติเรื่องสุขภาพ ที่กลายมาเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยในเรื่องของระบบสุขภาพมากขึ้น อีกมิติหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อันเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ส่วนแรกคือเรื่องของการปิดตัวหรือขายของไม่ได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน

นอกจากนี้ สอวช. ยังคำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศ จึงเข้ามาศึกษาในด้าน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วย

นายกิติพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบัน สอวช.กำลังคิดที่จะทำแซนด์บอกซ์ในกลุ่มนวัตกรรมบางอย่าง เช่น นวัตกรรมทางด้านเครื่องมือแพทย์ ที่ทำออกมาแล้วให้ได้มาตรฐาน และนำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ เมื่อเกิดการนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงค่อยนำไปขยายผลในการพัฒนาต่อเนื่องและเพิ่มจำนวนให้ตอบสนองต่อความต้องการ ด้านภาครัฐจะต้องมีตลาดเข้ามาช่วยสนับสนุนการซื้อในช่วงแรก เพื่อร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจ บีซีจีขึ้นในประเทศได้

“ทิศทางของบีซีจีเป็นทิศทางพื้นฐานสำคัญที่ประเทศไทยมี และภาครัฐได้พยายามเตรียมการอะไรหลายอย่างขึ้นมาในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหรือการทำวิจัยนวัตกรรม รวมถึงการปลดล็อกทางด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เป็นเรื่องเกษตร เรื่องอาหาร เรื่องสุขภาพ เรื่องการแพทย์ เรื่องของพลังงาน เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในประเทศ จึงต้องมีการเตรียมการในการทำงานอย่างเต็มที่ และมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาวและต่อเนื่อง”

ผู้อำนวยการ สอวช.กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top