ดาวโจนส์ฟิวเจอร์วูบกว่า 200 จุด ส่งสัญญาณวอลล์สตรีททรุดต่อคืนนี้

ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงกว่า 200 จุดในวันนี้ บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะปรับตัวลงในคืนนี้ ต่อเนื่องจากที่ดิ่งลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้

ณ เวลา 18.00 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลบ 220 จุด หรือ 0.66% สู่ระดับ 33,288 จุด

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงปรับตัวลงในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดวันนี้

ดัชนีดาวโจนส์ปิดทรุดตัวลง 681.50 จุด หรือ 1.99% เมื่อคืนนี้ ทำสถิติดิ่งลงรุนแรงที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนม.ค. เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้ออาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต หลังจากที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้นเกินคาดวานนี้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 2.3%

นักวิเคราะห์ระบุว่า การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI ประจำเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน มีสาเหตุจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนการพุ่งขึ้นของดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเม.ย.2563 ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และคาดว่าตัวเลขดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี จะถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงต่อไปอีกหลายเดือน เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

ตลาดกังวลว่า ตัวเลข CPI ที่พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะทำให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน

ก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณลดวงเงิน QE ในปี 2556 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 64)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tags: , ,
Back to Top