บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ PTL ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ PTL ได้พิจารณาถึงสถานะทางการเงินรวมของบริษัทแม่ Polyplex Corporation Limited หรือ Polyplex Group เนื่องจากฟิทช์มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง PTL กับบริษัทแม่ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ที่อ่อนแอกว่า PTL อยู่ในระดับสูง
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติกของ Polyplex Group ความต้องการที่มีเสถียรภาพของผลิตภัณฑ์บางประเภทที่บริษัทขาย การกระจายฐานการผลิตและการจำหน่ายสินค้าไปในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามปัจจัยเหล่านี้ถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ของบริษัท ที่มีความผันผวนตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commoditized nature) และขนาดของธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่าบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
- การเติบโตของยอดขาย: ฟิทช์คาดว่า รายได้ของ Polyplex Group จะเติบโตประมาณ 14% ในปีงบการเงิน 2565 (สิ้นสุด เดือนมีนาคม 2565) จากการเริ่มดำเนินการผลิตของโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย ราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง บริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตในประเทศอินโดนีเซีย และ สหรัฐอเมริกา จำนวนประมาณ 120,000 ตันต่อปี ในช่วง ปีงบการเงิน 2565 ถึง 2566 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 38% ของกำลังการผลิตปัจจุบัน
- สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า Polyplex Group จะสามารถรักษาสถานะ net cash ในปีงบการเงิน 2564 จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้ Polyplex Group มี Rating Headroom ที่สูงในการรองรับการลงทุนในปีงบการเงิน 2565 แม้ในกรณีที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้ ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 13-15% ของยอดขาย ในปีงบการเงิน 2564 และ 2565 จาก 10.5% ในปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากการลงทุนขยายกำลังการผลิตในประเทศอินโดนีเซีย และ สหรัฐอเมริกา
- ผลกระทบที่จำกัดจากโคโรนาไวรัส: การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสซึ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวในปี 2563 มีผลกระทบในระดับที่จำกัดต่อปริมาณการขายของ Polyplex Group เนื่องจากประมาณ 73% ของยอดขายแผ่นฟิล์ม PET ของบริษัทฯ ขายให้กับลูกค้าในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากปริมาณการขายแผ่นฟิล์ม PET ให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม โดยรายได้ และ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ Polyplex Group เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2564 เพิ่มขึ้น 11% และ 44% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น: ฟิทช์คาดว่า ราคาวัตถุดิบจะปรับตัวสูงขึ้น จากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และ การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานในตลาด ซึ่งจะส่งผลให้กำไรต่อรายได้ของ Polyplex Group ปรับตัวลดลงในปีงบการเงิน 2565 เนื่องจากการปรับราคาขายมีความล่าช้ากว่าราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ Polyplex Group จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ในปีงบการเงิน 2565 และ 2566 จาก 25.9% ในช่วง 9 เดือนของปีงบการเงิน 2564
ผลกระทบต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน น่าจะได้รับการชดเชยจากปริมาณการขายที่สูงขึ้น จากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นในปีงบการเงิน 2565 และ 2566 โดยฟิทช์คาดว่าปริมาณการผลิตจากโรงงานใหม่ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีประสิทธิภาพสูง จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรวมภายในปีงบการเงิน 2567 บริษัทฯ ใช้ Purified Terephthalic Acid (PTA) และ Mono Ethylene Glycol (MEG) เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแผ่นฟิล์ม PET
- ผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์มพลาสติก: Polyplex Group เป็นผู้นำในธุรกิจแผ่นฟิล์ม Biaxially Oriented Polyethylene Terephthalate โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 5-7% ในตลาดแผ่นฟิล์ม PET ชนิดบาง Polyplex Group มีกำลังการผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติก เทียบเท่ากับของผู้ผลิตในระดับโลก เช่น Toray และ Mitsubishi ถึงแม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า Polyplex Group มีสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็น Specialty ซึ่งมีความผันผวนของราคาที่ต่ำกว่า น้อยกว่าคู่แข่งเหล่านี้
- การผลิตและการจำหน่ายที่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ: Polyplex Group มีฐานการผลิตอยู่ห้าแห่งกระจายตัวอยู่ในตลาดหลักในสี่ภูมิภาค ซึ่งได้แก่ ไทยและอินโดนีเซีย (เอเชีย) สหรัฐอเมริกา (อเมริกาเหนือ) ตุรกี (ยุโรป) และอินเดีย (เอเชียใต้) การกระจายฐานการผลิตไปในภูมิภาคต่างๆ จะช่วยลดผลกระทบจากความต้องการใช้สินค้าที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในแต่ละภูมิภาค และช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เกิดจากการหยุดการผลิตของโรงงาน นอกจากนี้ การที่แหล่งการผลิตอยู่ใกล้กับตลาด ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ความต้องการสินค้ามีมากกว่ากำลังการผลิตซึ่งต้องมีการนำเข้าสินค้า เช่น ภูมิภาคอเมริกาเหนือ และยุโรป
- ธุรกิจที่ผันผวน: Polyplex Group มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาขายผลิตภัณฑ์ และราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มมาตรฐานซึ่งคิดเป็นสัดส่ว 65 – 75% ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม PTL ได้เพิ่มยอดขายของสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (value-added products) มากขึ้นเป็นประมาณ 33% ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในช่วง 9 เดือนของปีงบการเงิน 2564 จาก 28% ในปีงบการเงิน 2561 เพื่อลดกระทบจากวัฏจักรผลิตภัณฑ์ที่ผันผวนของแผ่นฟิล์มมาตรฐาน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ แผ่นฟิล์มเคลือบอลูมิเนียม (Metallized film) แผ่นฟิล์มเคลือบ (Coated films) และ แผ่นฟิล์มประเภท Specialty
- ความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่: ฟิทช์ประเมินว่า PTL มีความเชื่อมโยงในด้านการดำเนินงานกับ Polyplex Group ในระดับสูง เนื่องจาก Polyplex Group สามารถควบคุมการดำเนินงานของ PTL ผ่านทางคณะกรรมการบริษัท และสามารถเข้าถึงเงินสด และกระแสเงินสดจากการดำเนินการของบริษัทลูกได้ ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตในเรื่อง Parent and Subsidiary Rating Linkage อันดับเครดิตภายในประเทศของ PTL พิจารณามาจากสถานะทางการเงินรวมของ Polyplex Group ที่รวมผลประกอบการณ์ของ PTL ทั้งหมด หักด้วยกำไรทั้งหมดของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
Polyplex Group มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติขั้นปลาย กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มผู้ผลิต ในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
Polyplex Group และ บมจ. อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ดำเนินธุรกิจแปรรูปโพลีเมอร์และพลาสติก แต่มีธุรกิจปลายทางที่แตกต่างกัน EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าแต่มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า ทั้งนี้ ธุรกิจปลายทางของ EPG มีขนาดเล็กกว่า แต่ EBITDA รวมของบริษัทฯ มีขนาดใกล้เคียงกับ Polyplex Group ทั้งสองบริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิ และอัตราส่วนหนี้สินในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองจึงเท่ากัน
- Polyplex Group และ บมจ. เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกัน KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ KCE ดำเนินงานในอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนน้อยกว่า Polyplex Group โดยเน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน
Polyplex Group มีสถานะทางธุรกิจอ่อนแอกว่าบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ และมีสถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Standalone credit profile) ที่ bbb+(tha)) เล็กน้อย ฟิทช์ เชื่อว่า การที่ HMC เป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยชดเชยกับการที่บริษัทฯ มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ Polyplex Group อย่างไรก็ตาม Polyplex Group มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงทำให้มีอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ HMC
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- รายได้ของ Polyplex Group เพิ่มขึ้นประมาณ 23% ในปีงบการเงิน 2565 เนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
- EBITDA margin ของ Polyplex Group อยู่ที่ประมาณ 19-20% ในปีงบการเงิน 2565-2566 โดย EBITDA margin ที่ลดลง เนื่องจากการปรับราคาขายที่ล่าช้ากว่าราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายจากการเริ่มดำเนินงานของโรงงานใหม่
- การลงทุนในปีงบการเงิน 2565-2566 ทั้งหมดประมาณ 10.5 พันล้านรูปีอินเดีย
- จ่ายเงินปันผล 40% ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก: ฟิทช์คาดว่าการปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากขนาดธุรกิจของ Polyplex Group ที่พิจารณาจากขนาด EBITDA มีขนาดเล็กกว่าบริษัทอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า และ ในระยะยาว หากขนาดของธุรกิจใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญรวมถึงสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ EBITDA Margin มีเสถียรภาพมากขึ้น อาจส่งผลให้มีการพิจาณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้
ปัจจัยลบ: กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ อัตราส่วน Total net debt to EBITDA ของ Polyplex Group สูงกว่า 2 เท่า อย่างต่อเนื่อง และ EBITDA margin ของ Polyplex Group ลดลงต่ำกว่า 13% อย่างต่อเนื่อง (ปีงบการเงิน 2563 อยู่ที่ 17.4%)
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: Polyplex Group มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสดมากกว่าหนี้สินจำนวน 1 หมื่นล้านอินเดียรูปี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 เมื่อเทียบกับหนี้สินจำนวน 5.9 พันล้านอินเดียรูปี และหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 1.9 พันล้านอินเดียรูปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 64)
Tags: PTL, ฟิทช์ เรทติ้งส์, หุ้นไทย, อันดับเครดิต, โพลีเพล็กซ์