สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงแห่งประเทศไทย (Thai Industrial Hemp Trade Association: TIHTA) เปิดตัวอย่างเป็นทางการจากการผนึกกำลังของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ พร้อมด้วยคณะนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ หลากหลายสาขา พร้อมที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงสู่พืชเศรษฐกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ชู People First สนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Hemp human resource and technology development) เริ่มต้นให้ภาคเกษตรต้นน้ำมีความแข็งแรง สู่ปลายน้ำภาคอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เริ่มผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเมื่อต้นปี 2564 ที่สามารถนำประโยชน์จากพืชกัญชง (Hemp) มาใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ต่อเนื่องจากการนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งจากภาคการเกษตร โรงงานสกัด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้เริ่มขับเคลื่อนเพื่อขานรับตามนโยบายดังกล่าว
แต่ภายใต้การเริ่มต้น ยังมีปัญหาและข้อจำกัดเกิดขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งองค์ความรู้ด้านการขออนุญาต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และข้อกำหนดมาตรฐานราคากลางในการซื้อขาย ทำให้ห่วงโซ่ธุรกิจกัญชงขับเคลื่อนไปอย่างล่าช้า และกระทบไปถึงการขาดวัตถุดิบในการพัฒนา วิจัย และทดลองนำประโยชน์จากพืชกัญชงมาใช้ในอุตสาหกรรม จึงได้เกิดการรวมตัวกันขึ้นของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือ แลกเปลี่ยน และแบ่งปันองค์ความรู้และทรัพยากร โดยได้รับความร่วมมือจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการมาร่วมกันทำงาน จนเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ให้การรับรองการจัดตั้งสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยขึ้น
นายวีระชัย ณ นคร ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมฯ กล่าวว่า สมาคมฯ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมชั้นนำจากหลายธุรกิจ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มสมาชิกให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างราบรื่น ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสมาชิกและสาธารณะ รวมทั้งช่วยประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จนนำไปสู่ความมั่นคงของผู้ประกอบการกัญชงในประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยแม้ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนในอุตสาหกรรม แต่สมาคมฯ จะยึดหลัก People First คือการพัฒนาเกษตรกรและบุคลากร ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และเริ่มต้นสร้างภาคต้นน้ำ หรือเกษตรกรผู้ปลูกให้เป็นรากแก้วที่แข็งแรงให้ได้ จึงจะขับเคลื่อนส่วนอื่นๆ ให้แข็งแรงตามไปอย่างยั่งยืน
“กัญชงเป็นพืชที่อยู่คู่กับชาวไทยมายาวนาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดมาก่อน นับเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการเริ่มขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง วันนี้สมาคมฯ มีองค์ประกอบพร้อมที่จะดำเนินการ ประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ปลูกกัญชงและกัญชาทางการแพทย์ ผู้นำในอุตสาหกรรมหลายสาขา และยังพบว่าสามารถนำพืชกัญชงไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่การนำเส้นใยไฟเบอร์ไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การใช้สารสกัดสำคัญ CBD ในอุตสาหกรรมยารักษาโรค เครื่องสำอาง อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอาหารสัตว์ ฯลฯ โดยได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานต่างๆ อีกหลายหน่วยงาน” นายวีระชัย กล่าวเสริม
ทิศทางในการขับเคลื่อนระยะแรกนั้น ทางสมาคมฯ จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลให้กับผู้สนใจในการขออนุญาตปลูก และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกัญชง และเริ่มรวบรวมสายพันธุ์กัญชง ทำการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองสำหรับส่งเสริมการปลูกของเกษตรกร เพื่อลดปัญหาการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาสูง การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ หรือต้นพันธุ์ที่เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม และยกระดับภาคการเกษตรของพืชกัญชงให้มีคุณภาพที่ดี โดยในระยะต่อไปจะเป็นการขับเคลื่อนการกำหนดคุณภาพ และมาตรฐานราคากลางในการซื้อขาย การควบคุมมาตรฐานกัญชงในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 29 มกราคม 2564 ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง โดยเฉพาะการสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปใช้ประโยชน์ แปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกร และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้แก่ประเทศ
สำหรับมาตรฐานสารสกัดจากกัญชง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้จัดทำมาตรฐานในชุดของกัญชงซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 มาตรฐาน ได้แก่ (1) มอก.3171-2564 น้ำมันเมล็ดกัญชง (2) มอก.3172-2564 สารสกัดจากกัญชงที่มี CBD รวม ไม่น้อยกว่า 30% โดยมวล (3) มอก.3173-2564 สารสกัดจากกัญชงที่มี CBD รวม ไม่น้อยกว่า 80% โดยมวล (4) มอก.3184-2564 เปลือกกัญชง และ (5) มอก.3185-2564 แกนกัญชง และส่วนอีกมาตรฐานหนึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ เส้นใยกัญชง คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้
ข้อกำหนดกฎหมาย หลักเกณฑ์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมข้างต้นนั้น จะเป็นหลักยึดในขั้นต้นที่ทางสมาคมฯ นำมาใช้วางแนวทางขับเคลื่อน และร่วมบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนา สร้างโอกาสและมาตรฐานที่ดีในอุตสาหกรรมกัญชงอย่างยั่งยืนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 64)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, กัญชง, พืชเศรษฐกิจ, วีระชัย ณ นคร, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงแห่งประเทศไทย, อุตสาหกรรมกัญชง