ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ราคาสินค้าพืชเกษตรหลักส่วนใหญ่น่าจะให้ภาพที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรก ทั้งในรายการข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เนื่องจากได้รับแรงกดดันเป็น Double Shock ทั้งในฝั่งของอุปทานที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตมากขึ้น และในฝั่งของอุปสงค์ที่ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะฉุดรั้งความต้องการสินค้าเกษตรจากในประเทศในระดับหนึ่ง ทำให้คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร อาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เป็นร้อยละ 0.3-1.3 (YoY) ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1-2.1 (YoY) ส่งผลให้รายได้เกษตรกร ขยายตัวร้อยละ 1.9-2.9 (YoY)
อย่างไรก็ดี ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของปี 2564 น่าจะประคองการขยายตัวในแดนบวกได้ (แม้จะชะลอลงเมี่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากฐานที่สูง) ขณะที่ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว ทั้งนี้ พืชที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย น่าจะทำให้รายได้เกษตรกรกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่พืชที่มีราคาลดลงอย่างข้าว อาจส่งผลกระทบกดดันต่อรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังนั้น ข้าว จึงน่าจะเป็นพืชที่ได้รับความช่วยเหลือเฉพาะหน้าจากภาครัฐก่อนเป็นอันดับแรก
สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า ราคาสินค้าพืชเกษตรที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนผ่านดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวราวร้อยละ 10.4 (YoY) โดยเฉพาะในรายการยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรที่ยังมีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ แม้ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ขณะที่ราคาข้าวมีราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อผนวกกับภาพรวมปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราวร้อยละ 1.3 (YoY) เนื่องจากภัยแล้งที่ไม่รุนแรงนัก ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรให้ขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 (YoY)
แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรทั้งปี 2564 ราคาข้าว อาจปรับลดลง แต่ก็นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี จากแรงฉุดของผลผลิตข้าวนาปีที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปีก่อน ขณะที่ความต้องการจากต่างประเทศจะยังมีรองรับเพื่อกักตุนจากการเผชิญความเสี่ยงของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งที่มีผลผลิตเยอะเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งมีราคาข้าวถูกกว่าไทย
ราคายางพารา อาจปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการในถุงมือยางที่มีรองรับต่อเนื่องจากปีก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ จะยังมีความต้องการอย่างมากในถุงมือยางทางการแพทย์
ราคามันสำปะหลัง ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการจากจีนที่จะผลิตแอลกอฮอล์มีเพิ่มขึ้น เนื่องจากสต๊อกข้าวโพดของจีนมีแนวโน้มลดต่ำลง อย่างไรก็ดี อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากคู่แข่งอย่างกัมพูชาและสปป.ลาว ซึ่งมีราคาถูกกว่าไทย
ราคาอ้อย อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากผลของภัยแล้งในปีก่อนที่ยังสร้างความเสียหายต่อตออ้อยอย่างหนัก รวมถึงคุณภาพอ้อยที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยดีขึ้น อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยกดดันบางส่วนจากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง จากผลผลิตน้ำตาลที่ล้นตลาดโดยเฉพาะในบราซิล ที่หันมาผลิตน้ำตาลมากกว่าเอทานอล
ราคาปาล์มน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (เพราะฐานสูงในปีก่อนที่ราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี) เนื่องจากมีการแข่งขันรับซื้อผลปาล์มของโรงงานสกัดตามความต้องการของน้ำมันไบโอดีเซล B10 ยังมีรองรับเพื่อเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ (แม้อาจต้องเผชิญการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19) รวมถึงสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือที่อยู่ในระดับต่ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 64)
Tags: ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ราคาสินค้าเกษตร, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สินค้าเกษตร, อ้อย