- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 67,044 คน (+1,891)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,799 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 85 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 7 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
- รักษาหายแล้ว 38,075 คน (+1,821)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 28,745 คน (+49)
- เสียชีวิตสะสม 224 คน (+21)
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2021/05/20210501_โควิด-1024x1024.png)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,891 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,799 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 85 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 7 ราย จากประเทศอินเดีย 2 ราย สิงคโปร์ กาตาร์ เดนมาร์กปากีสถาน อิตาลี ประเทศละ 1 ราย สำหรับอินเดียเดินทางมาถึงวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งได้รับอนุญาตมาก่อน
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 21 ราย เป็นเพศหญิง 12 ราย เพศชาย 9 ราย อายุเฉลี่ย 73 ปี (39-90 ปี) อยู่กรุงเทพมหานคร 10 คน ชลบุรี สมุทรปราการจังหวัดละ 2 คน นอกนั้นอุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 คน โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ มีโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง อ้วน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ,สัมผัสใกล้ชิดเพื่อน/เพื่อนรวมงาน, สัมผัสผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิง, สัมผัสผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ติดเชื้อ, สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในตลาด และไม่ทราบประวัติเสี่ยง/สัมผัสผู้ติดเชื้อ 3 คน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้เสียชีวิต 21 คน ถือเป็นนิวไฮมากๆ ของประเทศไทย โดยยอดสะสมเสียชีวิตมีถึง 224 คน คิดเป็นอัตรา 0.33%
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 67,044 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 41,557 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 22,172 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,315 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 38,075 ราย เพิ่มขึ้น 1,821 ราย กำลังรับการรักษา 28,745 ราย อาการหนัก 829 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 224 ราย
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย
- กรุงเทพมหานคร 739 ราย ยอดสะสม 12,744 ราย
- สมุทรปราการ 142 ราย ยอดสะสม 1,861 ราย
- ชลบุรี 126 ราย ยอดสะสม 2,520 ราย
- ปทุมธานี 64 ราย ยอดสะสม 841 ราย
- เชียงใหม่ 61 ราย ยอดสะสม 3,563 ราย
- สุราษฎร์ธานี 52 ราย ยอดสะสม 705 ราย
- สมุทรสาคร 46 ราย ยอดสะสม 962 ราย
- นครศรีธรรมราช 46 ราย ยอดสะสม 962 ราย
- นนทบุรี 44 ราย ยอดสะสม 1,588 ราย
- ระนอง 33 ราย ยอดสะสม 192 ราย
“สถานการณ์ภาพรวมถือว่ายังทรงๆ ยังไม่สามารถไว้วางใจได้”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในที่ประชุมศบค. ชุดเล็ก และ EOC สาธารณสุข ยังมีสาระสำคัญอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน รายเขต รายพื้นที่ รายหน่วยงาน ซึ่งมีการนำเสนอโดยกรมควบคุมโรค ตัวเลขเป้าหมาย ให้การติดเชื้อในกรุงเทพฯน่าจะดีขึ้นไม่เกิน 400 รายต่อวัน หรือเฉลี่ยการติดเชื้อเขตละ 8 คน และผู้ที่ติดเชื้อจะต้องได้รับการรักษา
“ตัวเลขกดเหลือ 400 กว่าราย/วัน ถือเป็นเป้าหมาย”
โดยได้มีการวางแผนตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย
- วันที่ 3 พ.ค. เป้าหมาย 1,800 คนในเขตพระนคร (The Old Siam plaza) เขตพระโขนง เขตบางเขน เขตคลองสามวา เขตบางคอแหลม
- วันที่ 4 พ.ค. เป้าหมาย 400 คน ในเขตบางขุนเทียน เขตบางพลัด
- วันที่ 5 พ.ค. เป้าหมาย 2,000 คน ในเขตคลองเตย เขตปทุมวัน (ราชประสงค์-สยาม)
- วันที่ 6 พ.ค. เป้าหมาย 1,600 คน ในเขตหนองแขม เขตมีนบุรี เขตมักกะสัน เขตปทุมวัน (ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่)
- วันที่ 7 พ.ค. เป้าหมาย 1,400 คน ในเขตบางแค เขตสัมพันธวงศ์ (สำเพ็ง) เขตบางซื่อ เขตคลองสาน
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 152,002,365 ราย เสียชีวิต 3,193,653 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,103,974 ราย อันดับสอง อินเดีย 19,157,094 ราย อันดับสาม บราซิล 14,665,962 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,616,689 ราย และอันดับห้า ตุรกี 4,820,591 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 103
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สัปดาห์นี้มีรายงานผู้ติดเชื้อรวม 13,973 ราย สถานการณ์ในกทม.และปริมณฑลและประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนต่างจังหวัดคงตัว
ทั้งนี้ รายงานจากระบบบริการ/เฝ้าระวัง พบการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานมีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็น 54.30% และทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่วนการรายงานการค้นหาเชิงรุกน้อยลง เพราะผู้ป่วยเข้าระบบบริการค่อนข้างมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, โควิด-19, โควิดวันนี้