หมอธีระ เตือนรับมือ 2 โจทย์หลักโควิด จัดการเชิงระบบ-เชิงพื้นที่เพื่อความอยู่รอดระยะยาว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่นี้ ผลลัพธ์คล้ายกับระลอกสองคือมีโอกาสที่พบผู้ติดเชื้อรายวันไปเรื่อยๆ ทางเลือกที่จะต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหาอยู่ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรคน เงิน ยา อุปกรณ์ สถานที่ และศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรค จึงเหลือปัจจัยสำคัญอย่างเดียว คือ จะล็อกดาวน์ทันต่อเงื่อนเวลาหรือไม่

ภาพ: https://www.facebook.com/thiraw

ดังนั้น โจทย์จึงมีสองเรื่องหลักที่จะต้องจัดการด่วนเพื่อให้อยู่รอดในระยะยาว ได้แก่

–  หนึ่ง “เชิงระบบ”

ควรลงทุนเต็มที่กับระบบคัดกรองโรคให้มีศักยภาพในการตรวจมากและต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกพื้นที่ อย่างน้อยต้องให้บริการได้ 2 ครั้งต่อคนต่อปี และควรไม่เสียค่าใช้จ่าย จำเป็นต้องบูรณาการเครือข่ายบริการตรวจทั้งรัฐและเอกชนเข้าด้วยกันเพื่อให้มีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานและส่งต่อข้อมูลระหว่างกันได้ในระยะยาว นี่คือหัวใจสำคัญในการสู้ศึกครั้งถัดๆ ไป

ควรลงทุนและทำทุกทางที่จะจัดหาวัคซีนทางเลือกและสร้างช่องทางในการเข้าถึงได้อย่างถ้วนทั่ว เพียงพอ และควรมีปริมาณมากพอหรือเกินกว่าจำนวนประชากรในประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถครอบคลุมได้ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศ นี่คือหัวใจสำคัญดวงที่สองในการสู้ศึกระยะยาว

ควรเร่งพัฒนาความรู้และทักษะจำเป็นในการค้าขาย บริการ ท่องเที่ยว เดินทาง และอื่นๆ สำหรับประชาชนในประเทศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ให้รู้ ทำได้ ทำเป็น คุ้นชินกับรูปแบบบริการที่เน้นความปลอดภัย เพื่อให้ปกป้องกิจการของตนจากการระบาดซ้ำ และออกแบบโครงสร้างการทำกำไรในลักษณะที่เน้นความปลอดภัย เช่น การท่องเที่ยวที่ขายเรื่องราว เน้นทักษะการเล่าเรื่องความเป็นมา หรือสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจในตัวสินค้า บริการ หรือสถานที่ต่างๆ เป็นต้น

ควรปรับกลไกนโยบายสุขภาพท่องเที่ยวเดินทางและพาณิชย์ เน้นการลดความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ ปฏิรูประบบและรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งเล็ก กลาง และใหญ่ และปรับองคาพายพ โดยประเมินจากผลการทำงานที่ผ่านมาซึ่งเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยังมีจุดอ่อนที่ต้องได้รับการแก้ไข และจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม ต้องไม่กลัวที่จะยอมรับความจริง และนำไปปรับ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในระยะยาว

– สอง “เชิงพื้นที่”

เป็นบทบาทหน้าที่ของทุกคนในสังคม ในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ที่ต้องวางแผนรณรงค์ กระตุ้นให้ทราบสถานการณ์จริงว่าจะมีโอกาสระบาดซ้ำได้ หากทุกคนมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือป้องกันตัวได้ไม่เข้มแข็งพอ หาทางสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นปลอดภัยในแนวทางที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ประคับประคอง ช่วยเหลือแบ่งปัน ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระลอกสามนี้ เพราะอาจมีจำนวนมากกว่าเดิม และต้องการความช่วยเหลือนานกว่าเดิม กว่าจะยืนได้ด้วยตนเอง ทั้งเรื่องปัจจัยสี่ และรวมถึงงานเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถจ้างให้ช่วยทำได้

และ นโยบายประหยัด รัดเข็มขัด ใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศหรือในท้องถิ่น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ จำเป็นต้องนำมาใช้ เพื่อให้มีโอกาสอยู่รอดในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top