บมจ.พรอสเพอร์ เอ็นจิเนียริ่ง (PROS) ปิดการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19-21 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะดีเดย์เดินหน้าเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันแรกในวันที่ 27 เม.ย.นี้ โดยการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้มีจำนวน 140 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท กำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 2 บาท
สำหรับธุรกิจหลักของ PROS เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมประกอบอาคารที่มีประสบการณ์มากกว่า 24 ปี และมีบริษัทย่อย PROS ถือหุ้น 71.8% ในบริษัท พรอสเพอร์ ไทธรรม์ จำกัด เป็นผู้ให้บริการงานก่อสร้างโครงสร้างและสถาปัตยกรรมครบวงจร มีฐานลูกค้าหลักอยู่ในโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหลัก
ส่องราคา IPO 2 บาท “ถูก หรือ แพง”
นายพงศ์เทพ รัตนแสงสรวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROS เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ที่มาของการตั้งราคา IPO ที่ 2 บาท มุมมองคิดว่าเป็นราคาเหมาะสม แม้ว่าจะมีกระแสมองว่าตั้งราคาบน P/E ที่ 22 เท่า แต่หากลงลึกรายละเอียดของราคาเป็นการเปรียบเทียบผลประกอบการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (62-63) ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในแต่ละปี จึงคำนวณออกมาเป็น P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 22 เท่า
อย่างไรก็ตาม อยากให้พิจารณาข้อมูลจากแนวโน้มผลประกอบการปี 64 ที่กำลังจะเติบโตตามการรับรู้รายได้ของปริมาณงานในมือ หรือ Backlog ที่มีกว่า 2 พันล้านบาทประกอบด้วย ซึ่งเป็นตัวแปรผลักดันผลประกอบการปีนี้เติบโตอย่างแน่นอน ส่งผลให้ P/E หลังจากนี้ไปจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
“ผู้บริหารทุกคนมีความตั้งใจทำงานตอบแทนกับผู้ถือหุ้นทุกคน ที่สำคัญคือการขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 75% จะติดไซเรนท์ พีเรียด ไม่ขายหุ้นเป็นระยะเวลา 1 ปีเป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้กับนักลงทุนเห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมีความรักบริษัทและต้องการเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ท้าพิสูจน์ผลงานปี 64 รายได้โตอย่างน้อย 1.4 พันลบ. อัตรากำไรสุทธิพลิกฟื้นกว่า 6-7%
นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า เมื่อย้อนกลับมองงบการเงินช่วงปี 62-63 ฉายภาพรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทและมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 2.5-5% เท่านั้น ต่ำกว่าปี 61 ที่มีรายได้กว่า 1.3 พันล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 6-7% เป็นผลกระทบจากการชะลองานก่อสร้างกลุ่มลูกค้าบางราย โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม และกลุ่มห้างสรรพสินค้า ประกอบกับมีผลกระทบจากการปรับมาตราฐานบัญชีใหม่
ดังนั้น หากมองโอกาสการเติบโตผลประกอบการปี 64 หลังจากปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป งานที่เคยชะลอในปี63 จะพลิกกลับมาเป็นงานที่รอรับรู้รายได้ในปีนี้กว่า 700 ล้านบาท เมื่อรวมกับงานใหม่ที่ชนะประมูลและรับงานตรงเข้ามาเป็น Backlog อีก 1.3 พันล้านบาท ทั้ง 2 ส่วนจะคิดเป็นมูลค่า Backlog รวมกันกว่า 2 พันล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
บริษัทจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62-63 อย่างมีนัยสำคัญ เป็นการกลับสู่ศักยภาพการทำกำไรระดับมาตรฐานตามภาวะปกติของบริษัทอีกครั้ง
สำหรับกลุ่มลูกค้าบริษัท แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
- กลุ่มห้างสรรพสินค้า ได้แก่ กลุ่มโลตัส ,โฮมโปร ,ดีแคทลอน ,เดอะมอลล์ กรุ๊ป
- กลุ่มโรงงาน ได้แก่ กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่น้ำดื่ม “ตราสิงห์” ,โรงงานนีโอแฟคทอรี่ ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค
- กลุ่มอาคารสำนักงาน ได้แก่ อาคารสำนักงานแห่งใหม่กลุ่มอาร์เอส ,อาคารสำนักงานไทยออยล์ แหลมฉบัง , ปรับปรุงอาคารสำนักงานเอสซีจี บางซื่อ
- กลุ่มคอนโดมิเนียม ได้แก่ กลุ่ม AP เป็นฐานลูกค้าที่รับงานมาหลาย 10 ปีแล้ว ,กลุ่ม PS
- กลุ่มโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลวชิระ ,โรงพยาบาลจุฬา โรงพยาบาลบำรุงเมือง ,และโรงพยาบาลสมิติเวช
- กลุ่มอื่นๆ เช่น Data center ,อาคาร Lab
ส่วนบริษัทบริษัท พรอสเพอร์ ไทธรรม์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอยู่ในแถบมาบตาพุต รับงานกลุ่ม ปตท.เป็นหลัก
ระดมทุน mai รุกชิงโปรเจ็คต์ภาครัฐ ลุยประมูลงานปีละ 1-1.2 หมื่นลบ.
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ในแต่ละปีบริษัทจะเข้าประมูลงานมูลค่ารวมเฉลี่ย 1-1.2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 พันล้านบาท ดังนั้นโครงการที่บริษัทจะเข้าร่วมประมูลงานใหม่ในช่วงที่เหลือของปี 64 น่าจะอยู่ที่ 6-8 พันล้านบาท เป็นงานของกลุ่มลูกค้าเดิมที่บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีและบริษัทมีคุณสมบัติพร้อมรับงานดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างประมูลงานกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม
ภายหลังจากการระดมทุนเพื่อรับงานโครงการภาครัฐมากขึ้น จะแบ่งการใช้เงินเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างเพิ่มเติม 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนผลักดันศักยภาพการเข้ารับงาน และส่วนที่เหลือประมาณ 250 ล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายความสามารถในการเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐมากขึ้นภายในปี 64-65 คาดว่าศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจากการระดมทุนครั้งนี้ช่วยผลักดันภาพรวมรายได้ช่วง 3 ปีข้างหน้าเติบโตอย่างน้อย 10-15% ต่อปี
“อนาคตเราวางแผนว่าจะมุ่งเน้นงานก่อสร้างเติบโตอย่างน้อยปีละ 20% นอกเหนือโอกาสรับงานโครงการภาครัฐเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมองหาโอกาสเพิ่มเติมในแถบพื้นที่อีอีซีที่เป็นโซนที่บริษัทย่อยเข้ารับงานกลุ่มลูกค้าบริษัทชั้นนำหลายราย หากมีความคืบหน้า EEC การขยายการลงทุนภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ยิ่งสร้างโอกาสการเติบโตครั้งสำคัญให้กับบริษัทในอนาคต”
นายพงศ์เทพ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 64)
Tags: IPO, PROS, พงศ์เทพ รัตนแสงสรวง, พรอสเพอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, สัมภาษณ์พิเศษ, หุ้นไทย, หุ้นไอพีโอ