Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5-3.0% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเม็ดเงินที่เข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงในรอบนี้
บทวิเคราะห์ระบุว่า ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 อีกระลอกในเดือน เม.ย.64 หลังเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติระบาดระลอกใหม่ไปเมื่อ ม.ค.64 โดยช่วงต้นเดือน เม.ย. สัญญาณการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดเริ่มชัดเจนขึ้นจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ยิ่งกว่านั้นยังตรวจพบว่ารอบนี้พบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ (B.117) ตัวเดียวกับที่พบครั้งแรกในอังกฤษ สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจกินเวลาอย่างน้อย 3 เดือน คาดว่าจะกระทบแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และส่งผลต่อเนื่องไปยังแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนข้างหน้าที่ทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป นอกจากนี้ ยังกระทบต่อกำลังซื้อโดยรวม โดยเฉพาะจากแรงงานในภาคบริการที่ต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน
ขณะที่คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศอาจะลดลงเหลือเพียง 81.6 – 98.6 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะเหลือเพียง 1 แสนคนได้ในกรณีที่มีการระบาดซ้ำซ้อนขึ้นอีก เพราะจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
นอกจากนี้ Sentiment การบริโภคและลงทุนในประเทศก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยหากคุมการระบาดได้ใน 3 เดือน ประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศจะลดลงราว 9.1 หมื่นล้านบาท และหากการระบาดไม่สามารถควบคุมได้ภายใน 3 เดือน อุปสงค์ในประเทศก็อาจได้รับผลกระทบถึง 1.85 แสนล้านบาท
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นคราวนี้ มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าการระบาดครั้งที่ 2 ช่วงเดือน ม.ค.64 (ตลาดกลางกุ้ง) ที่เห็นชัดจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าอยู่แล้วให้ยิ่งฟื้นตัวช้าขึ้นไปอีก” บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมาก หนุนการส่งออกของไทยดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ราว 0.3% เทียบกับประมาณการเดิม โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ รวมถึงการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรที่ทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ และส่งผลดีต่ออุปสงค์ต่างประเทศ และแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ดีขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อน
Krungthai COMPASS ระบุว่า ปัจจัยที่ต้องจับตาว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ได้แก่
ประการที่ 1 ความสามารถในการควบคุมโรคระบาดกลายพันธุ์ที่ต้องมีประสิทธิภาพและรัดกุม หากการควบคุมการระบาดขาดประสิทธิภาพหรือผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป อาจทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นกว่าเดิม และต่อเนื่องไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ ดังเช่นการระบาดแบบ 2 ระลอกติดกันหรือ Double-dip ในเคสของประเทศอังกฤษ
ประการที่ 2 การแจกกระจายวัคซีนในประเทศที่ต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ประการที่ 3 เม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจที่ต้องเป็นไปอย่าง “ตามเป้า-ต่อเนื่อง-ตรงจุด” ตามเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลืออยู่ราว 2.2 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้ต่อยอดจากโครงการเดิมที่มีกระแสตอบรับดี เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือเราชนะ เป็นต้น ซึ่งจะเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เสริมให้เศรษฐกิจอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.5%นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินที่สามารถจัดสรรจากงบกลางได้อีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ ภาครัฐยังต้องคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน (K-shape Recovery)โดยเฉพาะการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ และแรงงาน ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 64)
Tags: krungthai COMPASS, ธนาคารกรุงไทย, เศรษฐกิจไทย