บมจ.โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) หุ้นเทคโนโลยีน้องใหม่เสนอขายหุ้นสามัญเพื่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 86 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3.25 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เปิดจองซื้อในช่วงวันที่ 21-23 เม.ย.และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 29 เม.ย.นี้
การระดมทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำเงินที่จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ในการก่อสร้างอาคารศูนย์ข้อมูล สำนักงานแห่งใหม่ พื้นที่อาคารรวม 7,452 ตารางเมตร โดยเป็นการลงทุนหลักใน Data Center ประมาณ 3,000 ตารางเมตร สามารถรองรับตู้ Server ได้ประมาณ 1,000 ตู้ จากปัจจุบันมีตู้ให้บริการประมาณ 645 ตู้ โดยจะเป็นการทยอยลงทุน และแล้วเสร็จในปี 65 พร้อมกันนี้ยังมีแผนนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจการให้บริการ ICT และงานรับเหมาก่อสร้าง
นายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROEN เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” โดยเล่าจุดเริ่มต้นของบริษัทว่า เริ่มมาจากงานไฟฟ้าตามหมู่บ้านในปี 40 ซึ่งเป็นช่วงที่แย่เพราะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หลังจากนั้นมีระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาทำให้มองเห็นโอกาสการให้บริการด้านอินเตอร์เน็ต จึงเปิดร้านอินเตอร์เน็ตที่สยามสแควร์ให้บริการกับเด็กที่เดินผ่านไปผ่านมา ชาวต่างชาติบ้าง จากนั้นจึงขยายการให้บริการจดชื่อโดเมนเนม การออกแบบหน้าเว็บไซท์ และ Web Hosting
จากที่ให้บริการร้านอินเตอร์เน็ตก็เห็นว่ามีความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่เหลืออยู่ และจำนวนเครื่อง Server มีมากขึ้นเรื่อยๆจาก 2 เครื่อง 10 เครื่อง จนสูงถึง 100 เครื่อง จึงมองว่าพื้นที่ดังกล่าวการขยายเป็นไปได้ยาก และมองว่าการจะให้บริการ Data Center หรือ Internet Server ที่ยั่งยืนจะต้องหาพื้นที่ที่เป็นส่วนรวมของผู้ให้บริการ จึงเข้าไปเช่าพื้นที่ของบมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ CAT Telecom จำนวน 150 ตารางเมตร
ต่อมาความเร็วของอินเตอร์เน็ตปรับเพิ่มสูงขึ้น จึงต่อยอดโดยการทำสถานีวิทยุออนไลน์ ชื่อ สยาม เรดิโอ และมองโอกาสการนำสัญญาณเสียงต่างๆ มาขึ้นระบบออนไลน์ โดยได้เข้านำเสนอกับผู้ประกอบการต่างๆ สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการมอบหมายให้บริษัทเข้าจัดการระบบต่าง ๆ เพราะมองเห็นว่าเป็นเทรนด์ในอนาคต
และเมื่อความเร็วของอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีกก็ได้พัฒนามาเป็นระบบอินเตอร์เน็ต ADSL ช่องรายการวิทยุเดิมจึงพัฒนามาเป็นรูปแบบการ Stream Live ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการเป็น Media Content Provider
นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าเจรจาเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายของสินค้าแบรนด์ต่างๆ อาทิ DELL, IBM และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่มีความหลากหลายบริษัทจึงได้เริ่มเข้ารับโครงการที่บริษัทมีความชำนาญ คือ การเดินสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการนำสายสื่อสารลงดิน
“ที่ผ่านมาเป็นการต่อยอดมาโดยตลอด ซึ่งนอกจากการใช้บริการของเราก็ยังมีการซื้อสินค้าที่เป็นอุปกรณ์ต่างๆด้วยจึงไปติดต่อเพื่อที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายของสินค้าต่างๆ ด้วย อาทิ DELL, IBM ทำให้เรามีความพร้อมในการให้บริการ และการจำหน่ายอุปกรณ์ไปพร้อมๆกัน รวมไปถึงงานโครงการที่เรามีประสบการณ์ด้วย โดยหลังจากนี้การขยายธุรกิจใหม่ๆจะเป็นการขยายธุรกิจที่เป็นรายได้ประจำ”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROEN กล่าว
นายกิตติพันธ์ กล่าวอีกว่า บริษัทเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Big Data ที่เกิดขึ้น ซึ่งบริษัทถือว่าอยู่ในเทรนด์ของ New S-curve นี้ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับทางด้าน Digital คือ Data Center และระบบต่างๆที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจำนวนลูกค้ามีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้จะสื่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี เป็นอย่างน้อย เพราะกลุ่มที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนมาสู่ระบบออนไลน์ก็ยังมีอีกมาก จะเห็นได้จากกลุ่มลูกค้าในประเทศที่หันมาใช้ระบบออนไลน์ทดแทนเอกสารกระดาษ อีกกลุ่มคือกลุ่มต่างประเทศ อาทิ กลุ่มลูกค้าจากประเทศสิงคโปร์ที่ติดปัญหาการขยาย Data Center เป็นไปได้ยากจากแหล่งพลังงานจำกัด และฮ่องกงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภายใน เป็นต้น ซึ่งส่งผลบวกต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ยังมีทีมงานที่อยู่กับบริษัทมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะทีมวิศกรและมีทีมวิจัยและพัฒนาที่เพรียบพร้อม สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เข้ากับเทรนด์อยู่ตลอด โดยเรื่องของการป้องกันการโจมตีจากแบบ Distributed denial of service(DDoS) บริษัทเป็นรายเดียวที่ให้บริการบน Cloud ที่มีระบบอยู่ในประเทศไทย
นอกจากนี้บริษัทยังมีความแตกต่างคือ บริษัทเป็นผู้ให้บริการ Internet Data Center ต่างจากหลายๆรายที่มีเพียง Data Center เพียงอย่างเดียว ซึ่งบริษัทมีระบบเชื่อมต่อข้อมูล Bandwidth ที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเกือบทุกรายส่งผลให้ลูกค้าสามารถเลือกความเร็วตามที่ต้องการได้ทั้งหมด
สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักในปัจจุบันคือ Garena โดยในธุรกิจบริการด้านเกมส์ อาทิ ROV , LOL , FIFA Online ผู้ให้บริการด้าน E-Commerce อาทิ Shopee ผู้ให้บริการระบบการชำระเงินออนไลน์ (Payment Gateway) อาทิ Airpay รวมไปถึงกลุ่มความบันเทิง (Entertainment) คือ กลุ่ม Content Provider รายการทีวีหลายๆราย
ขณะที่มองว่าธุรกิจที่จะเป็น New S-curve ของบริษัท คือระบบ Cloud Computing โดยบริษัทได้ร่วมมือกับ DELL เพื่อที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของระบบ Cloud ที่จะให้บริการแพลตฟอร์มที่ครบวงจร ที่รวดเร็วและง่ายต่อผู้ประกอบการมากขึ้น ต่อยอดจากธุรกิจ Data Center
นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า แนวโน้มผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่บริการด้าน OTT (Over The Top) หรือ ผู้ให้บริการส่งผ่านข้อมูล ทั้งรูปแบบข้อความ เสียง หรือ ภาพ ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมาก และกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยที่ผ่านมามีผู้ให้ความสนใจ และเข้ามาชมโครงการจำนวนมาก
ปัจจุบัน บริษัทมีการกระจายสัดส่วนรายได้จากธุรกิจหลักใกล้เคียงกัน โดยรายได้จากธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสารที่เป็นรายได้ประจำสัดส่วนราว 30% รายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ราว 30% และรายได้จากงานรับเหมาก่อสร้างโครงการราว 30%
นายกิตติพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทมีงานในมือ (Backlog) มูลค่า 334 ล้านบาท จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาทั้งหมดภายในปีนี้ และอยู่ระหว่างการติดตามโครงการเดินสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หลายโครงการ โดยจะสามารถเข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ได้มากขึ้น มูลค่าแต่ละโครงการราว 100 ล้านบาท คาดหวังที่จะได้รับงานอย่างน้อย 1-2 โครงการ และโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน โครงการนำสายสื่อสารลงดิน ที่เริ่มมีโครงการต่างๆ ออกมาเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้รองรับการเติบโตในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 64)
Tags: PROEN, กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม, สัมภาษณ์พิเศษ, หุ้นเทคโนโลยี, หุ้นไทย, โปรเอ็น คอร์ป