นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี ได้ร่วมกันจัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” (หนี้บัตรฯ) โดยเดิมได้กำหนดช่วงเวลาของงานไว้ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 14 เมษายน 2564 ปรากฏว่าผลตอบรับโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก กล่าวคือ มีประชาชนมากกว่า 2 แสนคน ให้ความสนใจและได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้เกือบ 5 แสนบัญชี ทั้งนี้ เมื่อใกล้ครบช่วงเวลาที่กำหนดไว้ มีข้อเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้ขยายระยะเวลาที่จัดงานออกไป
ธปท. ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นร่วมกันที่ให้ขยายระยะเวลาจัดงานออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากและกว้างขวางยิ่งขึ้น ธปท. เห็นว่าแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวจะมีทิศทางดีขึ้น และเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ความเสี่ยงที่อาจจะมีการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ยังมีอยู่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2564 ประชาชนให้ความสนใจเข้ามาลงทะเบียนจำนวน 234,906 คน หรือ 481,936 บัญชี ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการอยู่ระหว่างเร่งติดต่อ รวมทั้งตรวจสอบสถานะ และทยอยแจ้งผลเข้ามาต่อเนื่อง โดยภาพรวมการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีอยู่จำนวน 110,956 บัญชี (ระหว่างนี้ยอดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามการพิจารณาของผู้ให้บริการที่ทยอยรายงานเข้ามา) โดยลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ประมาณ 63% ส่วนกรณีที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุป บางส่วนอยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบเอกสาร และเป็นผลจากลูกหนี้ยื่นขอไกล่เกลี่ยเข้ามาผิดกลุ่ม เช่น สถานะยังผ่อนชำระดี แต่ยื่นขอไกล่เกลี่ยในช่องทางของกลุ่มที่มีคำพิพากษาแล้ว เป็นต้น รวมทั้งบางกรณีลูกหนี้ยังไม่พร้อมที่จะผ่อนชำระตามแผน และบางรายต้องการข้อเสนอที่แตกต่างจากข้อตกลงของงานมหกรรมในครั้งนี้ โดยในช่วงที่ต่อเวลาคาดว่าสัดส่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถไกล่เกลี่ยกันได้จะเพิ่มสูงขึ้น
นางธัญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. ได้รับแจ้งมาว่าประชาชนในหลายกลุ่ม ยังไม่ทราบเกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ จึงต้องการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ให้ประชาชนทราบมากขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนที่มีหนี้บัตรใช้โอกาสที่มีการจัดงานในครั้งนี้แก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่ โดยความพิเศษของงานครั้งนี้ คือ ข้อเสนอการผ่อนชำระหนี้จะมีความผ่อนปรน และอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ ให้เวลาผ่อนชำระยาวเพียงพอ
นอกจากนี้ งานมหกรรมครั้งนี้จะมีข้อเสนอสำหรับลูกหนี้ทุกกลุ่มสถานะ กล่าวคือ
- กลุ่มแรก เป็นหนี้บัตรฯ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง หรือหนี้บัตรฯ ดีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ท่านสามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ โดยหยุดการจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งใช้เวลานานกว่าหนี้จะลด และขอเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตร มาเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดเวลา ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยถูกลงจาก 16% เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต โดยสามารถคงวงเงินที่เหลือไว้ใช้ได้ และประวัติเครดิตบูโรจะไม่เสีย
- กลุ่มที่สอง เป็นหนี้บัตรฯ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ยังไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่พิพากษา สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4%-7% ตามเงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้
- กลุ่มที่สาม เป็นหนี้บัตรฯ เป็นคดีมีคำพิพากษาแล้ว ไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ และถือเป็นความพิเศษของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ คือ ปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้ เจ้าหนี้มักจะไม่ยินยอมให้ผ่อนยาว แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 23 แห่งที่ร่วมโครงการ เห็นความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 5 ปี และยกดอกเบี้ยที่ค้างให้หากลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ [email protected] เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของ ธปท.จะได้ติดต่อกลับไป
นางธัญญนิตย์ กล่าวด้วยว่า ธปท. ได้รับข้อแนะนำจากหลายภาคส่วนให้จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติม ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยเมื่อรายละเอียดต่าง ๆ มีความชัดเจนแล้วจะได้ชี้แจงให้ทราบต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 เม.ย. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธัญญนิตย์ นิยมการ, สินเชื่อส่วนบุคคล, หนี้บัตรเครดิต