- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 35,910 คน (+1,335)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 789 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 537 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 9 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
- รักษาหายแล้ว 28,322 คน (+34)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 7,491 คน
- เสียชีวิตสะสม 97 คน (+0)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,335 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 789 ราย และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 537 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 35,910 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 13,973 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 18,716 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,221 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 28,322 ราย เพิ่มขึ้น 34 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 97 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 138,013,074 ราย เสียชีวิต 2,971,864 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 32,070,784 ราย อันดับสอง อินเดีย 13,871,321 รายอันดับสามบราซิล 13,601,566 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,106,329 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,657,883 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 112
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ได้มีการประชุมเรื่องสำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน
- โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้กว่า 1 พันรายต่อวัน ที่ประชุมจึงเสนอมาตรการต่าง ๆ ทั้งที่ได้ทำไปแล้วอย่างปิดสถานบันเทิง และจะปิดพื้นที่เสี่ยงอื่นอีก รวมถึงอยากจะให้ยกเลิกพฤติกรรมเสี่ยง และการทำงานที่บ้าน (WFH)
- เรื่องที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงในเรื่องการบริหารจัดการเตียง ซึ่งก็ได้มีการจัดการเพิ่มจำนวนเตียง
- เรื่องที่ 3 วัคซีนซึ่งทางสาธารณสุขยืนยันวัคซีนทั้งวัคซีนซิโนแวก และแอสตร้าเซนเนก้า ที่นำมาใช้ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดหาวัคซีนไม่ได้เกิดจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว การบริหารจัดการวัคซีนทำด้วยระดับนานาชาติ โดยจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านการแพทย์ และสาธารณสุขให้ได้ 100%
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 579,305 โดส ใน 77 จังหวัด ซึ่งยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ได้มีการจัดหาวัคซีนซิโนแวก 1 ล้านโดส และได้อยู่ในไทยแล้ว ซึ่งจะจัดให้บุคลากรด่านหน้า 6 แสนโดส ทั้งในส่วนภาครัฐฯ และเอกชน ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 พบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง กระจายทั่วประเทศ และพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้นบางจังหวัดที่เชื่อมโยงต่อเนื่องจากสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และพบการระบาดที่เกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น กลุ่มนักศึกษาออกค่าย นักศึกษากลับภูมิลำเนา โดยช่วงนี้นักเรียน นักศึกษา ปิดเทอม แต่ก็ไปทัศนศึกษา ซึ่งก็พบติดเชื้อ 1 ราย ที่ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดตาก และแม่ฮ่องสอน รวมถึงพบการติดเชื้อในครอบครัวมากขึ้น
จึงอยากให้ลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเน้นการตรวจคัดกรอง ควบคุม ติดตาม กำกับ การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (ควรงดรับวัคซีน) เน้นสื่อสารกับประชาชนป้องกันตนเองตลอดเวลา หากจำเป็นต้องเดินทาง และเข้าที่ชุมชน และสถานที่สาธารณะด้วยมาตรการ DMHTT นอกจากนี้ให้เน้น WFH หลังสงกรานต์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะจังหวัดเสี่ยง
นพ.โอภาส กล่าวว่า หากเราไม่ทำอะไร คาดผู้ติดเชื้อจะมีถึง 20,000 คนขึ้นไปต่อวัน แต่ตอนนี้ได้ทำการปิดสถานบันเทิงไปแล้ว ก็คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 2,996 คนต่อวัน ซึ่งถ้าเราลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดดื่มแอลกอฮอล์ คาดผู้ติดเชื้อจะ 934 คนต่อวัน แต่ยังไม่เพียงพอจะต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดไปอีก ด้วยการลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นที่ซึ่งต้องรวมตัวกัน แม้จะเป็นงานปาร์ตี้ส่วนบุคคลก็แพร่ระบาดได้ หากลดได้คาดว่าผู้ติดเชื้อจะเหลือ 500 กว่าคนต่อวัน และถ้าเพิ่ม WFH ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะลดเหลือไม่กี่ร้อยต่อวัน
การระบาดรอบนี้มีการกระจายเร็วและเริ่มมีสัญญาณพบการติดเชื้อในครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะติดเชื้อจากคนในบ้าน
ส่วนนพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งในระหว่างรอเตียงจะต้องให้อยู่บ้าน ทั้งนี้มาดูเตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีพอไหม ตอนนี้จำนวนเตียงทั้งในส่วนของภาครัฐฯ และเอกชนมีเกือบ 5 พันเตียงไม่รวมโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel หากรวมแล้วกว่า 6,000 เตียง โดยในส่วนภาคเอกชน 3 วันนี้เพิ่มเตียงได้เกือบ 3,000 เตียงในส่วน Hospitel ส่วนโรงพยาบาลรัฐฯ ก็ขยายเตียงเพิ่มเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการเตรียม โรงพยาบาลสนาม ส่วนกรมการแพทย์เตรียมเปิด Hospitel คาดว่ารับได้ 450 เตียง (อีก 2 วัน) และโรงพยาบาลรามาธิบดี เตรียมเปิด Hospitel อีก 2 แห่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, กรมการแพทย์, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์, รุ่งเรือง กิจผาติ, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์