หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีความลังเลที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ขณะที่บางประเทศได้ระงับการใช้วัคซีนดังกล่าว เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลว่าอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้แผนการป้องกันโรคโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียเป็นไปอย่างล่าช้า
รายงานระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้แนะนำไม่ให้ใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ขณะเดียวกันก็คาดว่าการจัดส่งวัคซีนจากยุโรปนั้นจะไม่ตรงตามกำหนด ส่งผลให้รัฐบาลออสเตรเลียไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ว่าประชาชนทุกคนในประเทศจะได้รับวัคซีนโดสแรกในเดือนต.ค.นี้
ขณะที่ทางการฮ่องกงระบุว่า ฮ่องกงอาจจะไม่รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่สั่งไว้ในปีนี้ เนื่องจากมีแผนที่จะพึ่งพาวัคซีนของบริษัทบิออนเทคและซิโนแวก
ส่วนเกาหลีใต้ระบุว่า จะกลับมาฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในสัปดาห์นี้หลังจากสั่งระงับไป แต่จะจำกัดการใช้งานเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30-60 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ลดลงนั้น สะท้อนถึงกรณีที่เกิดขึ้นในยุโรป ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันระหว่างวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ากับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมองที่พบได้ยาก รวมถึงภาวะเกล็ดเลือดต่ำซึ่งพบเป็นครั้งแรกในยุโรป
ทางด้านศาสตราจารย์นิโคไล เปตรอฟสกี แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส รัฐเซาท์ออสเตรเลีย เผยว่า “การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลในต่างประเทศกล่าวว่าประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงนั้น หมายถึงวัคซีนที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนจากโควิด-19 ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดจากภาวะข้างเคียง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, ลิ่มเลือดอุดตัน, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, เอเชีย, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19