ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่นำมาฉีดในประเทศไทย ทั้งของซิโนแวก และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพดีมากในการลดความรุนแรงของโรค ช่วยป้องกันการป่วยที่มีอาการมาก และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ไม่ต่างจากวัคซีนของโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และอื่น ๆ ส่วนการป้องกันอาการน้อยถึงปานกลาง วัคซีนซิโนแวกป้องกันได้ 78% แอสตร้าเซนเนก้าได้ 76% ขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย
สำหรับคำถามว่าฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่นั้น ไวรัสกลายพันธุ์ที่พบขณะนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับพื้นผิวเซลล์ ทำให้เกาะติดเซลล์ได้แน่น เพิ่มจำนวนง่าย ปริมาณไวรัสมาก กระจายโรคเร็ว ส่วนความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยพบในไทย ดังนั้นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนอื่น ๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม
ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้ สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์หลุดเข้าไทย แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยจะกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทำอย่างเต็มที่ ก็ยังพบสายพันธุ์อังกฤษเข้ามาและเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในไทยต่อจากนี้ ขอให้การ์ดอย่าตก เข้มมาตรการป้องกันตนเองต่อไป
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า การจะฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรโลกที่มี 7 พันล้านคน ต้องฉีดให้ได้ 1 หมื่นล้านโดส หรือไม่น้อยกว่า 5 พันล้านคน ขณะนี้ทั่วโลกฉีดไปแล้วมากกว่า 700 ล้านโดส เฉลี่ย 15 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลา 2 ปี จึงจะครบเป้าหมาย ดังนั้นจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 30 ล้านโดสต่อวันจึงจะบรรลุเป้าหมายใน 1 ปี
ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากคือ สหรัฐอเมริกา จีน โดยประเทศที่ฉีดครอบคลุมมากสุดคือ อิสราเอล ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ทำให้ผู้ติดเชื้อที่เคยสูงสุด 6 พันรายต่อสัปดาห์ ลดลงเหลือหลักร้อยรายต่อสัปดาห์ อัตราเสียชีวิตเหลือหลักสิบรายต่อสัปดาห์ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนในประชาชนหมู่มาก ส่วนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ประเทศอังกฤษ ที่ระดมฉีดประชาชนจำนวนมาก การป่วยและเสียชีวิตลดลงอย่างมาก ขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี ที่หยุดฉีดบางช่วงเนื่องจากกังวลเรื่องผลข้างเคียงวัคซีน เกิดการระบาดระลอก 3
ขณะนี้ ประชาชนบางส่วนอยู่ในภาวะตระหนก ขอให้ตรวจสอบว่าตัวเองเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ ซึ่งระลอกแรกเห็นชัดว่า ผู้เสี่ยงสูงคือคนในครอบครัว จะต้องไปตรวจหาเชื้อ ส่วนการสัมผัสในที่ทำงาน จากการศึกษาพบว่ามีโอกาสติดในที่ทำงานน้อยมาก จะติดในผู้สัมผัสใกล้ชิด เช่น กินข้าวด้วยกัน พูดคุยสนทนากัน สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยถือว่าเสี่ยงสูง ควรไปตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ อาจเสี่ยงบ้าง ขอให้สังเกตอาการ เคร่งครัดการปฏิบัติตน ใส่หน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เป็นเวลา 14 วัน สำหรับอาการผื่นขึ้นนั้น พบได้จากหลายสาเหตุ หากเป็นโควิด-19 จะต้องมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ไข้ ไอ อาการระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอาการหลัก
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า ส่วนข้อสงสัยวัคซีนโควิด-19 ในภาวะฉุกเฉินที่ใช้ขณะนี้ เป็นวัคซีนที่ไม่สามารถรอการพัฒนาแล้วขึ้นทะเบียนในภาวะปกติ ซึ่งต้องใช้เวลา 3- 5 ปี เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน ดังนั้นเมื่อไม่สามารถรอได้ จึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้จากวัคซีนกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากวัคซีน หากมีประโยชน์มากกว่า จึงขออนุมัติในภาวะฉุกเฉิน และมีการศึกษาติดตามเรื่องความปลอดภัยวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เมื่อมั่นใจแล้วจึงจะขออนุญาตอนุมัติการใช้ในภาวะปกติ ซึ่งต่างจากวัคซีนที่อนุมติใช้ในภาวะปกติ เช่น วัคซีนใหม่ในเด็ก พบอาการข้างเคียงน้อยมาก หรือแทบไม่มีไข้เลย
“จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่วัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวก ฉีดแล้วอาจจะมีอาการข้างเคียงบ้าง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เมื่อยเนื้อตัว ต้องยอมรับ เมื่อเป็นการพัฒนาในภาวะฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตแจ้งแล้วว่าหากเกิดอะไรในภาวะฉุกเฉิน ฝ่ายอนุญาต (รัฐบาล) จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องรอไปอีกสักระยะหนึ่ง วัคซีนโควิดนี้ถึงจะอนุมัติให้ใช้ในภาวะปกติได้”
ศ.นพ.ยง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, ซิโนแวก, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์