นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 967 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 530 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 434 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ทำให้การติดเชื้อระลอกตั้งแต่วันที่ 1-11 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,762 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 3,661 ราย และจากต่างประเทศ 101 ราย) หายป่วยแล้ว 788 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 4,314 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ฉีดแล้ว 555,396 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 485,957 ราย และครบ 2 เข็ม 69,439 ราย
“ขณะนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อแล้ว 70 จังหวัด ซึ่งเชื่อมโยงจากสถานบันเทิง ดังนั้น ผู้ที่เคยไปสถานบันเทิงต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วันจากวันที่ไปครั้งสุดท้าย หากมีอาการขอให้ไปตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว และระมัดระวังตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กในครอบครัว” นายแพทย์โสภณกล่าว
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า กองระบาดวิทยา และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศทำแบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ในระยะ 1 เดือนข้างหน้า โดยเปรียบเทียบ5 สถานการณ์ที่มีการเพิ่มมาตรการเป็นขั้นพบว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ อาจมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9,140 รายต่อวันมีมาตรการปิดสถานบันเทิงจังหวัดเสี่ยงผู้ติดเชื้อลดลงเหลือร้อยละ 32.8 เมื่อเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล เช่นสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ลดการติดเชื้อลงเหลือร้อยละ 10.2 เพิ่มมาตรการลดกิจกรรมการรวมตัว ลดการติดเชื้อลงอีกเหลือร้อยละ 6.5 และเมื่อเพิ่มมาตรการองค์กร เช่น ทำงานที่บ้าน จะลดการติดเชื้ออีกเหลือร้อยละ 4.3 หรือเท่ากับผู้ติดเชื้อ 391 รายต่อวัน
ทั้งนี้ การควบคุมโรคโควิด 19 ต้องอาศัย 4 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการสังคม คือ ลดกิจกรรมชุมนุมสังสรรค์ ลดการเดินทางข้ามจังหวัดที่ไม่จำเป็น ผู้นำชุมชนค้นหาติดตามผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง
- มาตรการสาธารณสุข คือ คัดกรองเชิงรุก นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษา ลดโอกาสการแพร่เชื้อต่อ ป้องกันการเสียชีวิตในผู้ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง
- มาตรการส่วนบุคคล คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ ตรวจวัดอุณหภูมิ หากมีอาการสงสัยตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ที่ประวัติเสี่ยงให้กักตัว 14 วัน
- มาตรการองค์กร เน้นย้ำการทำงานจากที่บ้าน จัดประชุมหรือจัดการเรียนการสอนออนไลน์
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อต่อ ดังนั้น การบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อ จึงมีการเปิดสายด่วน 1668 และ 1330 เพื่อประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียง นอกจากนี้ มีการทำตึกผู้ป่วยสำหรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (โคฮอร์ดวอร์ด) , Hospitel และโรงพยาบาลสนาม เช่น กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลมากกว่าพันเตียง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งโรงพยาบาลสนามแล้ว 470 เตียง เป็นต้น เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อที่อาการดี ทำให้โรงพยาบาลปกติมีเตียงรองรับในการรักษาผู้ติดเชื้อมีอาการรายใหม่เพิ่มขึ้นได้
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประชาชนทั่วไป จะเริ่มเมื่อมีวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตร้าเซนเนก้าในเดือนมิถุนายนนี้ ตั้งเป้าฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อขอเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ทางแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 โดยสถานพยาบาลจะนัดมารับวัคซีนตามกำหนดต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร