ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติกับพวกรวม 23 ราย ไว้พิจารณา และพิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีต่อไป
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติให้ความเห็นชอบแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันมีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม มิใช่การกำหนดแนวทางปฏิบัติงานภายในหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขสัญญาตามร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่
การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงมีผลทำให้โครงการทางด่วนที่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจะต้องตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน จึงมิได้มีผลกระทบต่อคู่สัญญาเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการทางด่วน ซึ่งรวมถึงค่าใช้บริการที่ผู้บริโภคต้องชำระด้วย จึงย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงและกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม
เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นกลุ่มบุคคลหรือองค์กรภาคประชาชน และเป็นประชาชน ซึ่งอ้างว่า ได้ใช้บริการทางด่วน และอ้างว่า หากทางด่วนตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิได้ใช้โดยเสียค่าผ่านทางในราคาที่ถูกลง จึงถือว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 64)
Tags: คณะรัฐมนตรี, ครม., ศาลปกครอง, สัมปทานทางด่วน