สธ.เผยรายงานตปท.พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันอาจเป็นผลข้างเคียงจากแอสตร้าฯ แต่เกิดได้น้อย

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงรายงานการทบทวนด้านความปลอดภัยของหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศอังกฤษ และสหภาพยุโรป ซึ่งได้มีการทบทวนกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำของผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีข้อสรุปว่าภาวะการเกิดลิ่มเลือดที่ผิดปกติร่วมกับการมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ในอัตราระหว่าง 2-4 ต่อล้านการฉีด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีน และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก

“เป็นข้อสังเกตที่เกิดขึ้น แต่จะมีการเก็บข้อมูลต่อ ว่าในส่วนที่มีความเป็นไปได้นี้ จะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเกี่ยวข้องแล้วจริงๆ หรือไม่ เพราะการตัดสินความเกี่ยวข้อง จะมีตั้งแต่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ หรือยืนยันว่าเกี่ยวข้องแน่ๆ ซึ่งตอนนี้ขั้นตอนยังอยู่ในข้อสังเกตที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับวัคซีน” นพ.นครกล่าว

อย่างไรก็ดี สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะติดตามและขอข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากประเทศอื่นๆ ด้วย เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ และติดตามข้อมูลคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งระหว่างนี้ยังไม่มีข้อแนะนำให้หยุดฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า อาจมีเพียงบางประเทศเลือกฉีดให้แก่บางกลุ่มอายุ

“ข้อมูลเหล่านี้จะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของเราจะได้ใช้ข้อมูล และให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนในแต่ละช่วงอายุต่อไปได้ชัดเจนมากขึ้น” นพ.นครกล่าว

พร้อมย้ำว่าวัคซีนทุกตัว ย่อมมีผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดภายหลังจากรับวัคซีนแล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าประโยชน์จากการได้รับวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอาการข้างเคียงทั้งสิ้น ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนให้ความมั่นใจกับการมารับวัคซีน เพราะการมารับวัคซีนให้ได้ครอบคลุมในระยะเวลารวดเร็ว จะช่วยทำให้หยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้เร็วขึ้น

นพ.นคร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนในประเทศไทยว่า ขณะนี้การผลิตวัคซีนของบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย จำกัด ยังดำเนินการไปได้ครบตามแผน โดยมีการผลิตรอบละ 2 พันลิตร ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดส่งตัวอย่างวัคซีนที่ได้จากการผลิตไปตรวจสอบคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ประเทศสก็อตแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

“คาดว่าผลการตรวจคุณภาพวัคซีนที่รับรองคุณภาพวัคซีนนี้ จะส่งกลับมาไทยตั้งแต่กลางเดือนเม.ย.นี้เป็นต้นไป และการผลิตวัคซีนที่มีความคืบหน้า ทำให้แผนส่งมอบจะอยู่ในเวลาคือต้นมิ.ย. โดยจะมีวัคซีนประมาณ 5-10 ล้านโดส ขึ้นกับกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้ และส่งมอบได้ในแต่ละเดือน” นพ.นครกล่าว

ทั้งนี้ จะมีความสอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยในระหว่างนี้ไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนจากบริษัทซิโนแวก ในวันที่ 10 เม.ย. อีก 1 ล้านโดส จากที่สั่งไปแล้ว 2 ล้านโดส และรับมอบมาแล้ว 1 ล้านโดสก่อนหน้านี้ ซึ่งจะได้มีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ก่อนที่จะกระจายวัคซีนไปในช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย แถลงว่า หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า โดยได้ประเมินถึงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบได้ยากมากในประชาชนกว่า 34 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าใน สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป

ทั้ง 2 หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ขอให้แอสตร้าเซนเนก้าปรับเปลี่ยนข้อความบนฉลากวัคซีนที่ใช้ในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป โดยไม่มีการระบุถึงปัจจัยเสี่ยงใดๆ อาทิ อายุ เพศ หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งพบได้ยากมากนี้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานทั้ง 2 มีความเห็นต่อเหตุการณ์นี้ว่ามีความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้กับวัคซีนและขอให้ระบุว่าเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ยากมาก โดยภาพรวมแล้วทั้ง MHRA และ EMA ได้ยืนยันอีกครั้งว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถช่วยป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในทุกระดับความรุนแรงได้และประโยชน์เหล่านี้นั้นยังคงมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์

แอสตร้าเซนเนก้า ได้ร่วมมืออย่างแข็งขันกับหน่วยงานต่างๆที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านยาเพื่อดำเนินการเพิ่มเติมข้อมูลเหล่านี้ในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนี้กำลังศึกษาและทำความเข้าใจการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วยแต่ละราย การระบาดวิทยา รวมถึงกลไกที่น่าจะเป็นไปได้เพื่อจะอธิบายภาวะที่เกิดขึ้นได้ยากมากนี้

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า จากข้อมูลปัจจุบันนั้น ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการเกิดภาวะนี้มีความเป็นไปได้แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้และระบุว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเฉพาะทางเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการฉีดวัคซีนและปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เป็นไปได้

องค์การอนามัยโลก ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้พบได้ยากมากและมีรายงานการเกิดภาวะนี้ในตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ทั่วโลกเกือบ 200 ล้านคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top