นายแดเนียล ฟรังโก รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของอิตาลีและประธานร่วมของการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ทางออนไลน์เปิดเผยว่า รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกกลุ่ม G 20 ต่างก็เห็นควรให้มีการสนับสนุนด้านการเงินกับประเทศที่ยังไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไปได้นานเท่าที่จำเป็น
นายฟรังโกระบุว่า การจัดการกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคโควิด-19 นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับกลุ่มประเทศ G20 โดยเขาเปิดเผยว่า ผู้แทนกลุ่มประเทศ G20 ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 2 ในปีนี้ ได้ตกลงจะใช้กลไกด้านนโยบายทั้งหมดที่มีและนานเท่าที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือรายได้
นายฟรังโกยังระบุด้วยว่า การสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกได้โดยเท่าเทียมและง่ายดายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายนี้เช่นกัน
ถึงแม้ในที่ประชุมซึ่งมีตัวแทนจาก 19 ประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกและสหภาพยุโรปจะมีการหารือเรื่องสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นหลัก แต่ก็ยังมีอภิปรายถึงปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ ด้วย เช่น การที่นานาประเทศจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนามาตรฐานอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก
นอกจากนี้ นายฟรังโกยังกล่าวถึงการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ขึ้นเป็น 6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมในเดือนม.ค.ที่ระดับ 5.5% โดยนายฟรังโกระบุว่าเรื่องนี้เป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ได้เตือนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนเนื่องด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ กลุ่ม G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ตุรกี, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, G20, ประชุม G20, ประชุมออนไลน์, อิตาลี, เศรษฐกิจโลก, แดเนียล ฟรังโก, โควิด-19