อนุฯ CPTPP เดินหน้าตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ FTA เล็งหารายได้เสริมนอกเหนืองบฯรัฐ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า ที่ประชุมวานนี้รับทราบข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ขอให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการของส่วนราชการเพื่อจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอดังกล่าว

ที่ประชุมรับทราบว่า ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุนเอฟทีเอ) ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้ดำเนินการหารือเรื่องการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอมาเป็นระยะ

ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยต้องเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ซึ่งมี รมว.คลังเป็นประธาน เพื่อพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามขั้นตอน รวมทั้งจะต้องมีการจัดทำกฎหมายใหม่ ซึ่งจะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ต้องเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบอีกด้วย

นายบุณฤทธิ์ กล่าวว่า ถึงแม้การดำเนินการเพื่อจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอจะคืบหน้าไปมาก แต่ยังมีประเด็นเรื่องแหล่งรายได้ของเงินกองทุนฯ ที่ไม่สามารถพึ่งพารายได้จากงบประมาณภาครัฐเพียงแหล่งเดียว แต่จำเป็นต้องมีรายได้จากแหล่งอื่นเสริมด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะได้หรือเสียประโยชน์จากเอฟทีเอ และเมื่อหาข้อสรุปได้แล้ว ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนของกระทรวงการคลังต่อไป โดยคาดว่า หน่วยงานจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ CPTPP ในการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นชอบให้เสนอแผนงานดังกล่าวต่อรมว. พาณิชย์เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ต่อไป

สำหรับคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ เป็น 1 ใน 8 คณะ ซึ่งที่ประชุมกนศ. ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และให้เสนอแผนงานฯ ต่อที่ประชุม กนศ. เพื่อประมวลความพร้อมหรือไม่พร้อมของประเทศไทยในประเด็นต่างๆ และพิจารณานำเสนอ ครม. ต่อไป ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top