นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.64 อยู่ที่ระดับ 99.68 หดตัว -1.08% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และปรับลดลง -2.0% จากเดือน ม.ค.64 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุมตามความรุนแรงของสถานการณ์ แม้จะมีการผ่อนคลายบางส่วนในเดือนก.พ. 64 แต่ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จาก MPI การกลั่นน้ำมันหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
อีกทั้งผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนก.พ.64 ติดลบเป็นเดือนที่ 2
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ก.พ.64 อยู่ที่ 65.08% ลดลงจาก 66.6% ในเดือน ม.ค.64
ด้านอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนก.พ.น 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.85% จากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบมีมากกว่าปีก่อน รวมถึงโรงงานที่ปิดหีบแล้วบางส่วนมีการละลายน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.30% จากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง
- รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.97% จากรถบรรทุกปิคอัพ และเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีคำสั่งซื้อทะยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้ง ผู้ผลิตมีการผลิตรถรุ่นใหม่ ๆ
- เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.43% จากความต้องการที่ขยายตัวในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ประกอบกับปีก่อนมีผู้ผลิตหลายรายหยุดซ่อมบำรุงตามรอบการซ่อมบำรุง
- เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.04% การเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า (Short Supply) และผลิตรองรับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ รวมทั้งความต้องการจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์
นายทองชัย กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน เป็นต้น อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และพร้อมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเร็วกว่าแผนเดิมจากไตรมาส 4 ขยับมาเป็นไตรมาส 3 และมีแผนนำร่องในเดือนเม.ย. โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การผลิตในอุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) และรายการพิเศษ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขยายตัว 6.94% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยาง) เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ สอดรับกับตัวเลขการผลิตที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ เพิ่มขึ้นะ 3.05% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 4.1% และอาหารเพิ่มขึ้น 3.7% ตามลำดับ เนื่องจากความเชื่อมั่นในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้บริการแก่ประชาชน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้อย่างหมุนเวียน รวมถึงเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภคดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 64)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรม, เศรษฐกิจไทย