สธ.เปิดแผนกระจายวัคซีน มี.ค.-ส.ค. มั่นใจครอบคลุมเป้าหมาย 77 จังหวัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มั่นใจว่าแผนการกระจายและการฉีดวัคซีนในช่วงระยะต่อไปจะดำเนินการได้ตามเป้าหมายและกระจายไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แผนการกระจายและฉีดวัคซีน

มี.ค.เม.ย.พ.ค.มิ.ย.ก.ค.ส.ค.
จำนวนวัคซีน300,000800,0001,000,0006,000,00010,000,00010,000,000
เป้าหมายการฉีด200,000500,000900,0003,500,0008,000,00010,000,000
สถานพยาบาล301002001,0001,5001,500
จำนวนเฉลี่ยต่อสถานพยาบาล/เดือน6,6005,0004,5003,5005,3006,600
จำนวนเฉลี่ยต่อสถานพยาบาล/วัน330250225175265330
จำนวนจังหวัด137777777777

“การฉีดวัคซีนขึ้นกับยอดที่ได้รับมา โดยมั่นใจว่าไม่เกินเป้าหมายและศักยภาพที่จะรับได้ และจะกระจายไปให้มากที่สุด”

นพ.โสภณ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จนถึงปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 136,190 โดส แบ่งเป็นวัคซีนเข็มแรก 121,392 ราย คิดเป็น 98.8% วัคซีนเข็มสอง 14,798 ราย คิดเป็น 12% โดยพบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญเพียง 2 รายเท่านั้น

รายแรกเป็นหญิงอายุ 26 ปีที่ จังหวัดสมุทรสาคร มีประวัติแพ้กุ้งและไรฝุ่น หลังฉีดวัคซีน 10 นาที เกิดผื่นแดงคันบริเวณที่ฉีดและศรีษะ แดงร้อนบริเวณหูและใบหน้า หูและตาบวมเล็กน้อย ต่อมามีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่สะดวก หลังได้รับยาทางหลอดเลือดดำและพักสังเกตอาหารที่ห้องฉุกเฉินประมาณ 4 ชั่วโมงอาการดีขึ้น กลับบ้านได้

รายที่สองเป็นหญิงอายุ 30 ปีที่จังหวัดราชบุรี ปฏิเสธประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหาร หลังฉีด 30 นาที มีผื่นนูนแดงขึ้นบริเวณคอ หลัง แขน หน้าอก คันทั้งตัว รู้สึกว่าหน้าบวม คลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หลังได้รับยาทางหลอดเลือดดำและรับไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล 1 คืน อาการดีขึ้น กลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั่วโลกจะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วราว 500 ล้านโดส แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบางประเทศยังมียอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับสูง เช่น บราซิลที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 17 ล้านโดส หรือ 5% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนราย ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกัน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทั้งหมด ประชาชนยังมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตัวตามหลักชีวอนามัย คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ไปอยู่ในที่แออัด ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศสามารถควบคุมได้ โดยยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงจนสามารถทยอยปิด รพ.สนาม ไปแล้วหลายแห่ง เนื่องจากสถานพยาบาลตามปกติมีเพียงพอที่จะให้บริการ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 ศบค.กำหนดให้ปรับลดระยะเวลากักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจาก 12 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกายังต้องกักตัว 14 วันเท่าเดิม เนื่องจากพบว่ามีเชื้อกลายพันธุ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top