นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง ได้จัดทำยุทธศาสตร์ถั่วเหลืองและความมั่นคงทางด้านอาหาร ระยะเวลา 20 ปี (61-79) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเป็น 2.5 ล้านไร่ ในปี 79 มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพในรูปแบบการเกษตรแปลงใหญ่และพื้นที่ปลูกหลังนา เพื่อการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ปลูกเพียง 4 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ให้ผลผลิตสูง ซึ่งตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นพืชที่ช่วยบำรุงคุณภาพดินด้วย
ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 17 จังหวัด มีประมาณ 88,563 ไร่ คิดเป็น 85% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ (พื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 104,193 ไร่ ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2564) แบ่งเป็น ถั่วเหลืองรุ่น 1 ปลูกช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค. มีพื้นที่ปลูกประมาณ 46,960 ไร่ และถั่วเหลืองรุ่น 2 เริ่มปลูกช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย.ของปีถัดไป มีพื้นที่ปลูกประมาณ 41,603 ไร่ ซึ่งแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขียงราย กำแพงเพชร สุโขทัย แพร่ และเชียงใหม่
ที่ผ่านมา สศท.1 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองรุ่น 2 ปีเพาะปลูก 2562/63 ของสหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองขนาดใหญ่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2517 ปัจจุบันมีสมาชิก 400 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 1,000 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 มีต้นทุนการผลิตรวมจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 4,452 บาท/ไร่/รอบการผลิต ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 120 วัน ผลผลิตรวมประมาณ 245 ตัน/รอบการผลิต ผลผลิตเฉลี่ย 245 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลตอบแทน 4,532 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้เมล็ดความชื้น 13% อยู่ที่ 18.50 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ มีนาคม 2564)
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ 45% เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตให้กับสหกรณ์ โดยเกษตรกรเก็บเกี่ยวและตากเองก่อนส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ รองลงมา 32% ส่งจำหน่ายพ่อค้ารายย่อยลักษณะเช่นเดียวกับจำหน่ายให้กับสหกรณ์ คือ เก็บเกี่ยวและตากเองก่อนส่งจำหน่าย ส่วนที่เหลืออีก 23% ส่งจำหน่ายพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดที่มารับซื้อถึงไร่นาเท่านั้น โดยพ่อค้าจะต้องมีเครื่องนวดเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเอง
โดยกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาส่งเสริม อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและตามความต้องการของพืช เพื่อให้ใช้ในปริมาณและในระยะเวลาที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานคนผ่านกลุ่มแปลงใหญ่หรือสหกรณ์การเกษตร รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวแก่เกษตรกร เช่น การลดความชื้นผลผลิตและมีการคัดเกรดผลผลิตเพื่อให้มีการขายผลผลิตที่มีคุณภาพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 64)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ถั่วเหลือง, สศก., สศท., สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, อังคณา พุทธศรี, เกษตรกร