กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า โดยจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบนตามลำดับ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบดังนี้
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 64 -ปัจจุบัน เกิดวาตภัยในพื้นที่ 19 จังหวัดแยกเป็น ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ พะเยา และเพชรบูรณ์ รวม 2 อำเภอ 2 ตำบล 13 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 125 หลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย ชัยภูมิ สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และนครพนม รวม 65 อำเภอ 111 ตำบล 208 หมู่บ้าน 2 เขตเทศบาล รวม 67 อำเภอ 113 ตำบล 221 หมู่บ้าน 2 เขตเทศบาล บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 846 หลัง ผู้เสียชีวิต 1 ราย
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด ซึ่ง ปภ.ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)
Tags: กรมอุตุ, กรมอุตุนิยมวิทยา, ฝนตก, พยากรณ์อากาศ, สภาพอากาศ