ธปท. แจงแนวนโยบายกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซี ประเภท Stablecoins

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนบริการทางการเงินยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยี Blockchain หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) มาใช้ในภาคการเงิน ตลอดจนนำมาซึ่งการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซีหลากหลายประเภท เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือลงทุนในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล

ที่ผ่านมา มีการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีที่รู้จักกันในชื่อ “Stablecoin” โดยอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินตรา เพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อยลง ซึ่งมีอยู่หลายประเภท บางประเภทอาจเข้าข่ายการนำมาใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ ขณะที่บางประเภทมีศักยภาพในการนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงการนำไปใช้เพื่อต่อยอดบริการทางการเงินต่าง ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัล

ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงมีแนวนโยบายกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ Stablecoin แต่ละประเภท ดังนี้

1. Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) เป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่พยายามลดความผันผวนโดยผูกมูลค่ากับเงินบาท และนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ซึ่งอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ที่ ธปท. กำกับดูแลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการชำระราคา ด้านการฟอกเงิน ด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จึงขอให้ผู้ที่ประสงค์จะให้บริการในลักษณะดังกล่าวหารือกับ ธปท. เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ
ทั้งนี้ นโยบายการกำกับดูแล Stablecoin ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น
 
2. Stablecoin ประเภทอื่น ได้แก่ ประเภทที่มีเงินตราต่างประเทศหนุนหลัง (FX-backed Stablecoin) หรือมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่น ๆ หนุนหลัง (Asset-backed Stablecoin) หรือประเภทที่ใช้กลไกอื่น ๆ เพื่อประมวลผลให้สามารถคงมูลค่าได้แม้ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Algorithmic Stablecoin) ที่มิได้เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่ง ธปท. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนพิจารณาแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไป

น.ส.สิริธิดา ระบุว่า ธปท. เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีและพร้อมเปิดรับนวัตกรรมใหม่ เพื่อยกระดับการให้บริการในภาคการเงิน ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลระดับประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) ให้มีความปลอดภัย ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจสามารถนำไปต่อยอดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน และพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ได้

รวมทั้ง ธปท.จะยังติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในภาคการเงินอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า การชี้แจงในวันนี้ เป็นการสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซี หลังจากที่มีกระแสข่าวว่ามีการออก Stablecoin ชนิดหนึ่ง ชื่อ THT บน Terra Platform ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งระบุให้ 1 หน่วยของมูลค่า THT เป็น 1 บาท ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว มีความผิดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 เพราะจะทำให้เกิดการใช้เงินบาทอีกระบบ แม้จะยังไม่ได้มีการนำมาใช้ แต่ก็มีเจตนาชัดเจนที่จะนำมาใช้ทดแทนเงินบาท ดังนั้นถ้ามีการใช้เป็นวงกว้าง จะเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“แม้จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลประเภทที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่การใช้คำว่า 1 เหรียญเท่ากับ 1 บาท หากมีการนำมาใช้ในวงกว้าง ก็จะเกิดการใช้เงินบาท 2 ตลาดขึ้นมา ผิดตาม พ.ร.บ.เงินตรา เพราะไม่มีเงินบาทหนุนหลัง และอ้างอิงโดยไม่ใช่ผู้ผลิตเงินบาทเอง จึงไม่สามารถทำได้ อยากให้เอกชนที่สนใจทำสกุลเงินดิจิทัล มาหารือกับ ธปท.ว่าลักษณะใดดำเนินการได้ หรือไม่ได้”

น.ส.สิริธิดา กล่าว

อย่างไรก็ดี สกุลเงินดิจิทัลประเภทที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Blank Coin) ที่ได้รับความนิยม เช่น บิทคอยน์, เอเธอร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของ ธปท. มีความผันผวนสูง ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มี.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top