นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนหนึ่งจะทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่จากสถาบันบำราศนราดูร จากที่เลื่อนกำหนดมาเมื่อวันที่ 12 มี.ค. เนื่องจากมีข้อมูลจากสหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่าผู้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น ไม่ใช้ผลข้างเคียงจากจากการได้รับวัคซีน ทำให้บางประเทศตัดสินใจฉีดวัคซีนให้กับประชาชนต่อไป
ส่วนรัฐมนตรีคนใดจะฉีดวัคซีนบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูล ซึ่งขึ้นกับความสมัครใจ แต่ที่แน่นอนคือ นายกรัฐมนตรีจะเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดเวลา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยการฉีดวัคซีนให้กับผู้นำประเทศต้องได้รับคำยินยอมจากคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ ได้เตรียมวัคซีนทั้งจากแอสตราเซนเนก้า และซิโนแวก เพื่อฉีดให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่สมัครใจ ตาม 8 ขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดห้องสังเกตอาการ และกรมการแพทย์ได้จัดรถพยาบาลพร้อมส่งต่อไปยังโรงพยาบาลราชวิถีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
โดย นพ.ยง ภู่วรวรรณ จะเป็นผู้ฉีดวัคซีนให้กับนายกรัฐมนตรี และจะรับการฉีดพร้อมกับอาจารย์แพทย์อาวุโส เช่น ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ จะร่วมกันฉีดครั้งนี้ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ส่วนสถานบริการอื่นๆ จะเริ่มฉีดวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้รับการกระจายไปพร้อมกัน
“ขอให้มั่นใจว่า วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. มีความปลอดภัย และกระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบดูแลภายหลังการฉีดวัคซีนไว้พร้อมแล้ว”
รมว.สาธารณสุขกล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมข้อมูลจากต่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก ซึ่งยืนยันว่า วัคซีนแอสตราเซนเนก้าไม่เกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ สามารถฉีดได้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคนไทย และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่าสามารถเดินหน้าฉีดต่อไปได้
โดยบ่ายวันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการวิชาการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น หากไม่มีข้อมูลขัดแย้งเพิ่มเติม พรุ่งนี้เริ่มทำการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไปในจังหวัดเป้าหมายตามแผน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากแอสตราเซนเนก้า จำนวน 117,300 โดส ซึ่งจะเน้นฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงเป้าหมายที่อายุเกิน 60 ปี และจะได้รับจำนวนมากในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งวันที่ 20 มีนาคมนี้ จะได้รับวัคซีนจากซิโนแวกอีก 800,000 โดส รวมทั้งได้เจรจาจัดหาวัคซีนจากชิโนแวกเพิ่มอีกจำนวน 5 ล้านโดส และได้มีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ ที่สามารถนำส่งวัคซีนมายังประเทศไทยก่อนที่วัคซีนจากแอสตราเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทยจะผลิตออกมา เป็นการเสริมความเข้มแข็งของระบบการฉีดวัคซีนของประเทศ ซึ่งต้องรอบคอบและคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน
สำหรับภาคเอกชน คาดว่าอีกไม่กี่เดือนจะสามารถติดต่อเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่ได้รับการผ่อนคลายจากสถานการณ์ฉุกเฉินมากขึ้น และใช้ในสถานการณ์ปกติได้ ซึ่ง อย. พร้อมให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกในการนำเข้า รวมถึงกรมควบคุมโรค และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะสนับสนุนเรื่องการอบรมและขึ้นทะเบียนโรงพยาบาลเอกชนที่มีความประสงค์ที่จะให้บริการประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, ครม., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ยง ภู่วรวรรณ, รัชดา ธนาดิเรก, วัคซีนต้านโควิด-19, สถาบันบำราศนราดูร, สหภาพยุโรป, อนุทิน ชาญวีรกูล, อียู, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19