กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “วัคซีนพาสปอร์ต กับอนาคตการเดินทาง ยุค COVID-19” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,210 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.2 ไม่ทราบว่าวัคซีนพาสปอร์ตคืออะไร ขณะที่ร้อยละ 30.8 ระบุว่าทราบ โดยร้อยละ 78.2 ระบุว่าประโยชน์ของวัคซีนพาสปอร์ตนั้นทำให้สะดวกในการเดินทางข้ามประเทศในช่วง COVID-19 รองลงมาร้อยละ 69.1 ระบุว่าทำให้ลดความเสี่ยงจากการรับ และการแพร่เชื้อ COVID-19 เมื่อไปต่างประเทศ และร้อยละ 67.2 ระบุว่าทำให้สร้างความมั่นใจให้กับประเทศที่ไป ว่าปลอดเชื้อ COVID-19
หากมีการนำวัคซีนพาสปอร์ต มาใช้จริงสำหรับการเดินทาง ประชาชนร้อยละ 32.8 ระบุว่าจะใช้ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 44.6 ระบุว่าจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก รองลงมาร้อยละ 9.3 ระบุว่าประเทศจีน และร้อยละ 6.3 ระบุว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อถามว่า หากประเทศไทยมีการตอบรับเรื่อง วัคซีนพาสปอร์ต จะส่งผลดีกับธุรกิจ/ภาคส่วนใดมากที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 49.0 ระบุว่าจะส่งผลดีกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รองลงมาร้อยละ 23.9 ระบุว่าธุรกิจการบิน และร้อยละ 13.4 ระบุว่า บริษัททัวร์/บริษัทนำเที่ยว
สำหรับเรื่องที่กังวลมากที่สุดหากมีการนำแนวคิดเรื่อง วัคซีนพาสปอร์ต มาใช้จริง คือ อาจเกิดปัญหาการทุจริตเพื่อให้ได้วัคซีนพาสปอร์ต เช่น ปลอมแปลงเอกสาร /ใช้เงินซื้อ/ทำวัคซีนพาสปอร์ตปลอม ร้อยละ 49.0 รองลงมาคืออาจต้องมีการบังคับใช้ วัคซีนพาสปอร์ต กับแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าประเทศไทยด้วย ร้อยละ 26.7 และ การไม่ยอมรับเอกสาร วัคซีนพาสปอร์ตของไทย จากนานาประเทศ ร้อยละ 10.1
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.7 มีความเชื่อมั่นว่าการเปิดประเทศสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 จากทั่วโลก จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคักได้ ขณะที่ร้อยละ 28.3 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 64)
Tags: กรุงเทพโพลล์, ผลสำรวจ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, วัคซีนพาสปอร์ต