BAM คาดกำไรสุทธิปีนี้กลับไปใกล้ปี 62 จากการเพิ่มฐานลูกหนี้-ศึกษาแตกไลน์สู่ Clean Loan

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดกำไรจากการดำเนินงานปกติในปีนี้น่าจะกลับไปใกล้เคียงกับปี 62 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 6,549.30 ล้านบาท แต่เป็นกำไรจากการดำเนินงานปกติราว 3 พันล้านบาท ส่วนอีกราว 3 พันล้านบาทเป็นรายการพิเศษที่มาจากการเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้รายใหญ่ จากปีก่อนปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,840.62 ล้านบาทหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงเชื่อมั่นว่ากำไรสุทธิจะกลับไปเท่ากับในอดีตได้ เนื่องด้วยสัดส่วนกำไรจาก NPL, NPA และรายได้ดอกเบี้ยก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 4/63

ขณะที่ปีนี้บริษัทฯ ก็ได้มีการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน NPL จะคัดเลือก NPL ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันออกมาขายให้เร็วขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า 3,500 บัญชีในปี 64 เพื่อให้มีกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 140 ล้านบาทต่อเดือน และเร่งเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติกับลูกหนี้ให้เร็วขี้นด้วยข้อเสนอจูงใจ รวมถึงเร่งกระบวนการขายทอดตลาดหลักประกันผ่านกรมบังคับคดี

ด้าน NPA ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าขายผ่อนชำระมากกว่า 1,000 บัญชีในปี 64 เพื่อให้มีกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15 ล้านบาทต่อเดือน โดยตั้งงบลงทุนไว้ที่ 226 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงทรัพย์เพื่อให้พร้อมขาย ขณะเดียวกันก็จะเน้นการใช้กลยุทธ์ราคาพิเศษกับทรัพย์ที่คัดเลือกกว่า 3,000 รายการ, ข้อเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทะเบียน และส่วนลดเพิ่มเติมจากราคาพิเศษในกรณีจองซื้อทรัพย์ออนไลน์ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีแผนออกบูธจำหน่ายทรัพย์ทั่วประเทศกว่า 100 ครั้ง และ Virtual Booth อีกอย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้ไว้ที่ 17,453 ล้านบาท แบ่งเป็น NPL จำนวน 10,453 ล้านบาท และ NPA จำนวน 7,000 ล้านบาท และวางงบลงทุนซื้อสินทรัพย์ NPL, NPA เข้ามาบริหารไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท โดยมองว่ายังมี NPL บางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากพบว่ามีจำนวนบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์ให้การช่วยเหลือในระบบรวมทั้งสิ้น 6.02 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ 2 ล้านล้านบาท หากกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระตามปกติได้ ก็จะไหลมาสู่บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ซึ่งบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างติดตามว่าจะมีปริมาณ NPL ออกมาเท่าไหร่

นายบัณทิต กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการศึกษาในการจัดตั้งบริษัทบริหารลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan), บริษัทประเมินราคาสินทรัพย์ และบริษัทปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์เพื่อต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ พร้อมทั้งปลดล็อกข้อจำกัดของการเป็นเพียงบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ที่จะต้องดำเนินงานภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขของการควบคุมธุรกิจ AMC ทำให้การต่อยอดธุรกิจของ BAM ทำได้ค่อนข้างจำกัด คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปลายปี 64

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top