TU เป้ารายได้ 5 ปีโตเฉลี่ย 5% แตะ 1.6 แสนลบ.รุกโปรตีนทางเลือก-กัญชง-อาหารเสริม

บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) วางเป้าหมายเติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 ปี (ปี 64-68) เฉลี่ยปีละ 5% จาก 1.32 แสนล้านบาทในปี62 จะเพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านบาทภายในปี 68

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเน้นให้ความสำคัญกับกำไรสุทธิมากกว่ารายได้ โดยในปี 64 นี้ตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ 17.5% พร้อมเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ ทั้งผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก และธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Ingredients) ที่จะมีมากกว่า 15% ขณะที่สัดส่วนรายได้จะอยู่ที่กว่า 10% ของรายได้รวม

ส่วนงบลงทุนในปีนี้ตั้งไว้ 6-6.5 พันล้านบาท มากกว่าปีก่อนที่ใช้งบลงทุนไปเพียง 3.7 พันล้านบาท โดยแบ่งไปลงทุนในประเทศไทย ที่จะผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสท (Protein hydrolysate ) และคอลลาเจนในประเทศไทย วงเงิน 800 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสำเร็จ วงเงิน 1,000 ล้านบาทซึ่งคาดเริ่มผลิตและขายในไตรมาส 2/64 ขณะที่ในต่างประเทศจะลงทุนก่อสร้างห้องเย็นใหม่ในประเทศกานาวงเงิน 11 ล้านเหรียญสหรัฐ

และในช่วงปี 65-68 จะมีงบลงทุนปกติปีละ 4.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 2 ปี แต่บริษัทมีความพร้อมหากมีโอกาสการลงทุนที่ดี โดยขณะนี้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.94 เท่า

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า บริษัทหันมาเน้นธุรกิจที่ให้อัตรากำไรสูง ได้แก่ ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Ingredients) และ อาหารเสริม (Supplements) ได้แก่ ทูน่าออยล์ แคลเซียม โปรตีนไฮโดรไลเสท คอลลาเจนเปปไทด์ เป็นต้น โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ 100 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท รวมทั้งผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 100 ล้านบาท และจะเติบโตเป็น 1,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน หลังจากที่บริษัทได้ลงทุนด้านนวัตกรรม (Innovation) มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ธุรกิจใหม่ดังกล่าวมีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า 20% ขณะที่ธุรกิจทูน่ากระป๋องที่เป็นธุรกิจเดิมมีอัตรากำไรขั้นต้น 18% โดยผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจะกระจายการจำหน่ายไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในไทยบริษัทได้ขายสินค้าให้กลุ่ม บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) , ร้านอาหารเอสแอนด์พี (SNP) พร้อมเน้นในกลุ่มประเทศเอเชีย อีกทั้งได้ส่งออกไปเทสโก้ที่อังกฤษและสหรัฐฯ โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์จากพืชทดแทนอาหารทะเล เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่

นอกจากนี้ TU ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านช่องทางจำหน่าย ได้แก่ การร่วมมือกับ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) ร่วมทุนผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมที่ IP มีความเข้มแข็งด้านช่องทางขายผ่านโรงพยาบาล คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 2/64, การร่วมทุนกับกลุ่มไทยเบฟ ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งไทยเบฟมีความเข้มแข็งช่องทางการขายเช่นกัน คาดจะเริ่มในช่วงครึ่งหลังปี 64

“ต่อๆ ไปเราก็จะลงทุน JV กับพันธมิตร ทั้งธุรกิจ Ingredients, Supplements, Alternative Protein, Medical Food ถ้าพบผู้ที่มีความเข้มแข็งจะร่วมมือกัน เราไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว อย่าง Medical Food กำลังคุยร่วมมือกัน ซึ่งเราต้องการเห็นภาครัฐควรขับเคลื่อน Medical Food เพื่อให้เรามีความสามารถแข่งขันระดบโลกได้ ซึ่งปัจจุบันเรายังนำเข้า Medical Food ”

นายธีรพงศ์ กล่าว

สำหรับธุรกิจกัญชง ขณะนี้บริษัทศึกษาที่จะนำเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น อาหารเสริม อาหารกระป๋อง โดยได้มีการทดลองนำไปทำเป็นทูน่ากระป๋องในน้ำมันกัญชงที่มีโอเมก้า 3 และโปรตีนจากกัญชง ขณะนี้รอกฎหมายมีผลบังคับใช้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และประเมินความต้องการของผู้บริโภคด้วย

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/64 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าที่ยังอยู่ในภาวะการระบาดโควิด-19 และทำงานที่บ้าน ขณะที่ราคาทูน่าปรับตัวลงกว่าระดับปกติที่ 1,300-1,350 เหรียญสหรัฐ/ตัน ที่คาดจะได้รับผลดีจากที่จับปลาได้ดีขึ้น จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ และคาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขึ้นต้นเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนเฉลี่ย 17.5% ปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 80%

นายธีรพงศ์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทมีแผนจะนำบริษัท ไทยยูเนียน ฟีดมิลล์ (TFM)  ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TU ถือหุ้นอยู่ 66.9% ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในประเทศไทย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในสิ้นปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top