นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ม.ค.64 โดยการส่งออกไทยมีมูลค่า 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.35% จากตลาดคาด 0.6-2.7% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,908.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.24% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 202.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกของไทยเดือนม.ค.ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนธ.ค. ปีก่อน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมูลค่าส่งออกยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (18,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศและประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจนและกระจายในวงกว้าง
ทั้งนี้เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับ น้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ยุทธปัจจัย ขยายตัวสูง 7.57% YoY สะท้อนการเติบโตจากภาคเศรษฐกิจจริง (Real Seactor)
“แม้จะยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การส่งออกของไทยในเดือนม.ค. ก็ยังสามารถขยายตัวได้ และมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง”
ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
สำหรับปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกไทยในเดือนนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง, ประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโควิด- 19 เริ่มเห็นผลชัดเจน และมีการกระจายวัคซีนไปในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์และความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังช่วยสนับสนุนสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันด้วย รวมทั้งความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่กดดันการส่งออกของไทย ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และพบว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์, ยังมีอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และภาวะเงินบาทแข็งค่า
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการส่งออกในรายสินค้าของเดือนม.ค.นี้ พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้น 3.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น น้ำมันปาล์ม, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, เนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 0.9% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ถุงมือยาง ซึ่งขยายตัวถึง 200% เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้ยังมีปริมาณความต้องการใช้ถุงมือยางอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, จีน และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกถุงมือยางของไทยขยายตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 14 แล้ว นอกจากนี้ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด ทำให้คนยังมีการทำงานที่บ้าน (Work from Home) จึงส่งผลต่อความต้องการสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนสำหรับที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่การส่งออกลดลง คือ ทองคำ ลดลงถึง 90% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการทองคำลดลง คนจึงหันไปซื้อสินทรัพย์อื่นทดแทน
ส่วนการส่งออกในรายตลาด พบว่า การส่งออกไปตลาดสำคัญหลายตลาดขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับภาคการผลิตและการบริโภคทั่วโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก ขยายตัวได้ 5.7% ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัวได้ 1.4% และตลาดศักยภาพรอง ขยายตัวได้ 10.3% ทั้งนี้ การส่งออกในตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในรอบ 10 เดือน แสดงถึงการค้าชายแดนที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ดี ตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย เช่น สหภาพยุโรป เอเชียใต้ และอาเซียน ยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกในตลาดดังกล่าวเป็นไปอย่างช้าๆ
นายภูสิต กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 64 ว่า กระทรวงพาณิชย์คาดว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 4% โดยในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าจะขยายตัว 3-5% ขณะที่ครึ่งปีหลัง ขยายตัวได้ 3-4% พร้อมมองว่าสัญญาณการส่งออกในเดือนก.พ.มีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความชัดเจน เช่น ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 3 เดือน, ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เริ่มขยายตัว สะท้อนจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นจากปลายปีก่อน และการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิดที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค
“การส่งออกในปีนี้ หากจะให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ต้องส่งออกให้ได้เดือนละประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่บางเดือนก็อาจจะน้อยกว่า หรือมากกว่าได้ แต่เฉลี่ยต่อเดือนมูลค่าจะอยู่ที่ 20,093 ล้านดอลลาร์”
ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ทั้งนี้ การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อาจจะได้เห็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าไตรมาสอื่น เนื่องจากเป็นการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 63 เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มกลับมาฟื้นตัว ขณะที่คาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2 ปีนี้ จะมีอัตราการขยายตัวมากสุดในระดับ 2 หลักได้ เนื่องจากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ฐานต่ำจากผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 64)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การค้า, ทองคำ, น้ำมัน, นำเข้า, ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, ส่งออก, สนค., อาวุธ, เศรษฐกิจไทย