อนุสรณ์ คาดเศรษฐกิจไทย Q2/64 โตไม่ต่ำกว่า 3-4% หลังมองไตรมาสแรกยังหดตัว

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3-4% โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้น่าจะยังหดตัวและติดลบประมาณ -0.50 ถึง -1.0% หากสามารถทยอยเปิดประเทศภายใต้การควบคุมตามมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขและมาตรฐานองค์การอนามัยโลก การเปิดประเทศพร้อมกับการได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงของคนในประเทศจะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสองจะขยายตัวเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบห้าไตรมาส          

จากตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า เศรษฐกิจไตรมาสสี่ของปีที่แล้วหดตัวหรือติดลบน้อยกว่าคาดการณ์ คือ มีอัตราการขยายตัวติดลบ -4.2% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2563 ติดลบประมาณ 6.1% การลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนเริ่มขยายเป็นบวกเล็กน้อยอันเป็นผลจากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการโอนเงินชดเชยรายได้ประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ           

นอกจากนี้ ภาคส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจะปรับตัวทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายไตรมาสหนึ่ง เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกโดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของสินค้าไทยฟื้นตัวชัดเจนหลังจากมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั้งการผลิต การบริโภค ยอดค้าปลีกกระเตื้องขึ้นจากการลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากไตรมาสสองปีที่แล้ว โดยประเทศที่มีฟื้นตัวเร็วที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น การฟื้นตัวของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และมีความสำคัญต่อตลาดโลกจะทำให้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตได้มากกว่า 5% และ ปริมาณการค้าโลกน่าจะขยายตัวได้อย่างน้อย 6% ในปีนี้หลังจากที่ติดลบสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้วที่ -11% ในปีนี้           

โจทย์ของเศรษฐกิจไทย คือ ทำอย่างไรให้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาเป็นบวกเพื่อรักษาการจ้างงาน รักษาระดับรายได้ของลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้รักษาแรงเหวี่ยงโมเมนตันของภาคการบริโภคหลังจากมีกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมาตรการการคลัง การเร่งฟื้นฟูการลงทุนและการจ้างงานมีความเร่งด่วนในการต้องทำให้เกิดผลก่อนเงินชดเชยรายได้หมดลงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า การปล่อยเงินเข้ามาในระบบอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตามความจำเป็นเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนและรักษาการจ้างงานเอาไว้ได้ ส่วนการท่องเที่ยวของไทยนั้นเคยเป็นแหล่งรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.82-1.85 ล้านล้านบาทนั้น

หากสามารถทยอยเปิดประเทศได้ในไตรมาสสองและสามเป็นต้นมา จะมีรายได้ได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติไม่เกิน 200,000-300,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 10-11% ของรายได้เดิมที่เคยได้รับ ฉะนั้น กิจการการท่องเที่ยวต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปรกติ การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะไม่เติบโตเท่าในอดีตเนื่องจากกำลังซื้อของผู้คนทั่วโลกลดลง การท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีความไม่สะดวก ต้องมีการกักกันตัวเพื่อตรวจสอบโรค การเดินทางไม่สะดวกเหมือนเดิม ต้นทุนสูงขึ้น จึงกลายเป็นกิจกรรมของผู้มีรายได้สูง ที่ท่องเที่ยวแบบ New Normal หรือ เป็นแบบ Villa Quarantine ได้ ผู้มีรายได้ระดับปานกลางหรือรายได้น้อยนั้นหมดสิทธิ์ในระยะปีสองปีนับจากนี้           

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องขึ้นชัดเจนปลายไตรมาสสาม แต่ผลกระทบของการหดตัวอย่างรุนแรงปีที่แล้ว และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อเกิดการปรับเปลี่ยนของโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม ยังคงมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไปต่อไม่ได้ตัดสินใจหยุดกิจการและเลิกจ้างพนักงานภาวะดังกล่าวจะยังเป็นแนวโน้มระยะปานกลางและระยะยาวต่อไปจนกว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยสามารถปรับตัวเข้ากับห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติแบบใหม่ (New Global Supply Chain) อันเป็นผลจาก  การปรับเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัล การผลิตโดยหุ่นยนต์อัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน และ New Normal อันเกิดจากโรคอุบัติใหม่ต่างๆ เป็นต้น           

ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยต้องพยายามก้าวข้ามการเป็นเพียง ผู้รับเหมาซัพพลายเออร์ (Turn-Key Supplier) ยกระดับตัวเองในห่วงโซ่การผลิต ยกระดับผลิตภัณฑ์ ยกระดับกระบวนการผลิต ลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและทักษะแรงงาน จัดการทรัพย์สินทางปัญญาทั้งตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการ งานวิจัยหลายชิ้นชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่เรามีงบการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยรวมไม่ถึง 2% ของจีดีพีเป็นอุปสรรคสำคัญ นอกจากนี้ สัดส่วนในการทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) นั้นมาจาก SMEs ไม่ใช่รายใหญ่ มีรายใหญ่บางรายเท่านั้นที่ลงทุนใน R&D           

ผลของการแพร่ระบาดของส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพราะภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่สามารถรักษากิจการได้อีกต่อไปและจะทยอยเลิกจ้างคนจำนวนมาก โดยเริ่มต้นจากกิจการที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอ สภาพคล่องต่ำ ในการระบาดระลอกสองช่วงปลายเดือนธันวาคมต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์และยังไม่แน่ใจว่าจะคุมได้เมื่อไหร่นั้น ทำให้มีผู้ใช้แรงงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างเพิ่มเติมอีก 1-1.5 ล้านคน มีคนไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านคนมีความเสี่ยงรายได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและไม่ต่ำกว่า 30-40% อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้เหมือนเดิม ฉะนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมไปยังกลุ่มเปราะบางอีก หากใช้การแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่ใช้อยู่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งทศวรรษจึงบรรเทาลงได้ หลังผลกระทบแผ่กระจายในวงกว้างทุกกิจการทุกอุตสาหกรรม ทุกพื้นที่และทุกครอบครัว           

นายอนุสรณ์  กล่าวทิ้งท้ายว่า กับดักที่ใหญ่ที่สุดและแก้ยากที่สุดในประเทศไทยและหลายประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลกเกิดจาก กับดักของการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจรวมทั้งการครอบงำทางวัฒนธรรมที่สร้างความเชื่อว่า “คนไม่จำเป็นต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน” หรือ บูชากลไกตลาดมากเกินไปโดยไม่มองสภาพความเป็นจริงว่า การแข่งขันอย่างเสรีที่เป็นธรรมไม่มีอยู่จริง หรือ บางครั้งก็อาจจะใช้อำนาจรัฐกระทำการแทรกแซงกลไกตลาดโดยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนแต่อ้างผลประโยชน์สาธารณะ มีการสร้างสังคมแบบ แนวดิ่ง ไม่ใช่ แนวราบ หากไม่สามารถทลายโครงสร้างผูกขาดทางด้านการเมืองได้ด้วยประชาธิปไตย

หากไม่สามารถทลายโครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ด้วย การเปิดเสรีและให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หากไม่สามารถทลายวัฒนธรรมความคิดความเชื่อและระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยมได้ ก็เป็นการยากที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นภาวะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงอันเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงหลายไตรมาสติดต่อกันและการแพร่ระบาดของโควิด-19           

รัฐบาลต้องนำเอาข้อมูลลงทะเบียนในการแจกเงินมาทำเป็นฐานข้อมูล Big Data เพื่อใช้ในการออกมาตรการและนโยบายที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมและพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม วิกฤติสุขภาพล่าสุดพร้อมกับกับดักสุขภาพของผู้มีรายได้น้อยและแรงงานต่างด้าวทำให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำซับซ้อนขึ้น ผู้ใช้แรงงานที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะอาจต้องหยุดงานหลายวันระหว่างการระบาดของ Covid ลูกหลานของคนเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจนกระทั่งเรียนไม่ได้ดี หญิงที่ไม่สามารถรับสารอาหารอย่างเต็มที่ระหว่างการตั้งครรภ์และต้องคลอดลูกในสภาพแวดล้อมไม่ดีอาจทำให้ทารกสุขภาพย่ำแย่ ความโชคร้ายอันเกิดจากความยากจนและระบบเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เป็นธรรมนำมาสู่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นกับดักแห่งความยากจนและเหลื่อมล้ำที่ไม่สิ้นสุด        

หากไม่เดินหน้าปฏิรูประเทศนี้อย่างจริงจังยากจะแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาได้ เรามีคนหลายสิบล้านคนที่ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินแม้นเพียงตารางเมตรเดียวในประเทศนี้ คนไทยที่พอมีที่ดินล้วนถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ คนจนเมืองและแรงงานต่างด้าวต้องเช่าอาศัยอยู่กับครอบครัวในพื้นที่ห้องเช่าไม่เกินหนึ่งตารางเมตรในราคาที่ยังแพงอยู่ แต่ประเทศนี้ ข้อมูลล่าสุด ตนประมาณการคร่าวๆ หลังผลกระทบจากโควิดมีคนเพียง 5% ที่มีที่ดินมีโฉนด 85% ขึ้นไป ในจำนวน 5% นี้บางคนบางครอบครัวถือครองที่ดินมากกว่า 300,000 ไร่ ต่อคนหรือต่อครอบครัว และ คนกลุ่ม 1% แรกนี้ ถือครองความมั่งคั่งในประเทศนี้ไม่ต่ำกว่า 60% ในครอบครอง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการปฏิรูปภาษี ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปเศรษฐกิจ และปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประเทศนี้เป็นของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง


โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 64)

Tags: , ,
Back to Top