โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์วิจัยวัคซีน แถลงผลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายใต้ชื่อ ChulaCov19 ประสบความสำเร็จ เตรียมเดินหน้าผลิตและทดลองใช้ในคนปลายเดือน เม.ย.นี้ พร้อมเดินหน้าพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 คู่ขนานเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคต
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทดลองวัคซีน ChulaCov19 ในหนูพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้สูง ผลคือป้องกันโรคโควิด-19 และกันไม่ให้เชื้อเข้ากระแสเลือดได้ 100%
จากนี้ทีมวิจัยจะเปิดรับอาสาสมัครทดลองในคนราวปลายเดือนก.พ. และเริ่มฉีดวัคซีนในราวเดือนเม.ย. หรือพ.ค.64 โดยจะแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 อายุ 18-55 ปี รวม 36 คน เพื่อทดลองขนาดโดสที่เหมาะสมกับคนไทย เมื่อผลออกมาว่าปลอดภัยจะนำไปสู่อาสาสมัครกลุ่มอายุ 65-75 ปี เพื่อทดลองหาขนาดโดสที่เหมาะสม เมื่อได้โดสที่เหมาะสแล้ว จึงจะเดินหน้าระยะที่ 2 คือ ทดลองกับอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น คือ 300-600 คน
“ตอนนี้ทุกกระบวนการ เอกสาร ข้อมูลต่างๆ การประกันคุณภาพ จะเริ่มทยอยส่งให้ อย. และกรรมการจริยธรรม เพื่อทยอยพิจารณา เพื่อให้ไม่ต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ” ศ.นพ.เกียรติระบุ
วัคซีนดังกล่าวต้องฉีด 2 เข็ม ระยะเวลาห่าง 3 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ผลป้องกันได้ 100% ขณะที่วัคซีนสามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศา อยู่ได้นานอย่างน้อย 1 เดือน จึงจะไม่เป็นปัญหาต่อการขนส่งแต่อย่างใด ซึ่ง ศ.นพ.เกียรติ ระบุว่า mRNA ในวัคซีน ‘ChulaCov19’ จะไม่ฝังตัวในนิวเคลียส และยืนยันว่าประสิทธิภาพการป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ด้อยกว่าวัคซีนของ Moderna’s
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันเชื้อโควิด-19 ได้กลายพันธุ์ไปแล้ว จึงอาจเกิดการดื้อวัคซีนได้ง่ายขึ้น โดยพบการกลายพันธุ์ในอังกฤษ บราซิล และแอฟริกาใต้ ขณะที่ล่าสุดพบการกลายพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาถึง 7 สายพันธุ์ แต่สถานการณ์ยังไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากการกลายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้โรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ไวรัสที่กลายพันธุ์นี้จะอาศัยอยู่ในตัวคนนานขึ้น เพื่อต้องการจะกระจายเชื้อต่อให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ทางทีมวิจัยได้เริ่มพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อป้องกันเชื้อดื้อวัคซีนรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นการวิจัยคู่ขนานไปพร้อมกัน ขณะที่เน้นย้ำว่าถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ประชาชนยังต้องใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือเหมือนเดิม เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ กล่าวเสริมว่าทางโรงพยาบาลได้เตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ ขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการติดตามความปลอดภัยภายหลังฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ของทีมไทยแลนด์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและขอเป็นกำลังใจให้โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หรือ “ChulaCov19” ที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก จะช่วยเสริมฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น พึ่งพาตนเองได้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอความสำเร็จที่เชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน รัฐบาลไทยได้จัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 63 ล้านโดส ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับประชาชน ที่ผ่านมาเรามีศักยภาพสามารถผลิตหน้ากากอนามัย ชุด PPE น้ำยาตรวจหาเชื้อได้เอง รวมทั้งมีความพร้อม ทั้งเตียง โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ยารักษา อย่างเพียงพอและมีความมั่นคง หวังว่าวัคซีน ChulaCov19 จะมาช่วยเสริมการป้องกันควบคุมและรักษาโรคโควิด 19 ของประเทศให้สมบูรณ์ครบวงจร
“ขณะนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ถ้าจะให้ได้วัคซีนต้องจ่ายเงิน ต้องซื้อตามที่เขากำหนด ดังนั้นประเทศไทยต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยโครงการพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ ใกล้ความสำเร็จ และเราพร้อมสนับสนุนทุกโครงการพัฒนาวัคซีนของประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงของระบบสุขภาพไทยในอนาคต” นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่มีความก้าวหน้า สามารถป้องกันและลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากในหนูทดลอง และเก็บรักษาในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ 2-8 องศาเซลเซียสได้อย่างน้อย 1 เดือน ส่วนการเก็บวัคซีนให้ได้เพิ่มเป็นระยะ 3 เดือนอยู่ระหว่างรอผลการวิจัย ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมต่อการขนส่งและกระจายวัคซีน คาดว่าจะได้รับวัคซีนต้นแบบนำมาทดสอบในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และเตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อรองรับเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 64)
Tags: ChulaCov19, COVID-19, วัคซีนต้านโควิด-19, สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ, เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม, โควิด-19