องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น มีมากกว่าความเสี่ยง โดยคำตัดสินของ WHO เกิดขึ้นในขณะที่หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกัน (SAGE) ของ WHO กล่าวว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 2 โดส มีแนวโน้มสูงขึ้น หากช่วงเวลาในการฉีดวัคซีนสองเข็มนั้นห่างกันภายใน 4-12 สัปดาห์
คณะที่ปรึกษาฯของ WHO ยังระบุด้วยว่า แม้การวิเคราะห์เบื้องต้นจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในแอฟริกาใต้จะบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันอาการป่วยที่ไม่รุนแรงและอาการป่วยปานกลางนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ WHO ก็ยังไม่ได้อนุมัติให้มีการประเมินแบบเฉพาะเจาะจงต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันอาการป่วยรุนแรง ขณะที่หลักฐานทางอ้อมบ่งชี้ว่าวัคซีนตัวดังกล่าวสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ที่รุนแรงได้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกและการประเมินหลังการดำเนินงาน
ด้วยเหตุนี้ WHO จึงแนะนำให้ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แม้ว่าโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์จะแพร่ระบาดอยู่ในประเทศนั้นๆ ก็ตาม อีกทั้งประเทศต่างๆควรประเมินทั้งประโยชน์และความเสี่ยงตามสถานการณ์ทางระบาดวิทยาในพื้นที่ รวมถึงขอบเขตของการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์
“เราได้ให้คำแนะนำว่าแม้จะมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะมีประสิทธิผลลดลงในการป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออาการป่วยขั้นรุนแรง แต่ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนตัวนี้ แม้ในประเทศที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์”
อเลฮานโดร กราวิโอโต ประธานคณะที่ปรึกษาฯ กล่าวสรุป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, WHO, XINHUA, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, องค์การอนามัยโลก, ออกซ์ฟอร์ด, อเลฮานโดร กราวิโอโต, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19