สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จำนวนเด็กแรกเกิดที่ได้รับการจดทะเบียนในจีนลดลงเกือบ 1 ใน 3 ในปี 2563 ซึ่งบ่งชี้ว่า การผ่อนคลายนโยบายวางแผนครอบครัวที่เข้มงวดลงนั้น ไม่สามารถกระตุ้นให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้
หลังจากดำเนินนโยบายลูกคนเดียวมานานหลายทศวรรษ เมื่อปี 2559 ทางการจีนได้อนุญาตให้คู่แต่งงานสามารถมีบุตรได้ 2 คนได้ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำนวนแรงงานที่หดตัวลง
ตัวเลขจากกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (8 ก.พ.) แสดงให้เห็นว่า จำนวนเด็กแรกเกิดที่ได้รับการจดทะเบียนลดลงแตะ 10.04 ล้านรายในปี 2563 ซึ่งลดลงมากกว่า 30% จากปีก่อนหน้า และปรับตัวลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
รายงานระบุว่า สัดส่วนของเด็กผู้ชายอยู่ที่ 52.7% ขณะที่เด็กผู้หญิงอยู่ที่ 47.3%
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้เริ่มใช้นโยบายลูกคนเดียวมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เพื่อมุ่งชะลอการขยายตัวที่รวดเร็วของประชากร ก่อนที่จะประกาศยกเลิกในปี 2559
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้อัตราการเกิดขยายตัว เนื่องจากผู้หญิงจีนสมัยใหม่มักจะชะลอหรือหลีกเลี่ยงการมีบุตร ขณะที่คู่รักวัยหนุ่มสาวกล่าวโทษถึงค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนด้านนโยบายที่ไม่เพียงพอสำหรับครอบครัว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 64)
Tags: จีน, นโยบายลูกคนเดียว, เด็กแรกเกิด