นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC 1-17) สำนักงานชลประทานที่ 1-17 จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด สำรวจความต้องการใช้น้ำ
รวมทั้งความสมดุลของแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่ และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
พร้อมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ด้วยการสำรวจพื้นที่เก็บกักน้ำตามธรรมชาติ อาทิ แก้มลิง หรือบ่อยืม โดยทำการปรับปรุง ขุดลอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปริมาณน้ำในฤดูน้ำหลากต่อไป
ปัจจุบัน (8 ก.พ.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,635 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 19,705 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,544 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,806 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,110 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,488ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของแผนฯ ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สำหรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้นนั้น ปัจจุบัน (8 ก.พ. 64) เมื่อเวลา 07.00 น. ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแลของการประปานครหลวง (กปน.) จ.ปทุมธานี วัดค่าความเค็มได้ 0.33 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ส่วนแม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา วัดค่าความเค็มได้ 4.01 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำปากคลองจินดา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าไปในคลอง และเมื่อค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีนลดลง จะสูบน้ำเข้าคลองให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ต่อไป
ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาความเค็ม ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้างดสูบน้ำเข้าพื้นที่ในระหว่างการลำเลียงน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่าง
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ในช่วงวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทาน ประตูระบายน้ำ รวมถึงอาคารชลประทานที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา งดรับน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเป็นการป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่พื้นที่การเกษตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 64)
Tags: กรมชลประทาน, จัดสรรน้ำ, ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล, ภัยแล้ง