- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 22,644 คน (+586)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 47 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 526 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 13 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
- รักษาหายแล้ว 15,331 คน (+533)
- เสียชีวิตสะสม 79 คน (+0)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 586 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 47 ราย ในสมุทรสาคร 26 ราย กรุงเทพมหานคร 18 ราย ตาก 3 ราย, จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 526 ราย โดย 522 ราย มาจากสมุรสาคร เพชรบุรี 3 ราย สระแก้ว 1 ราย, ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 13 ราย เดินทางมาจาก สหรัฐอเมริกา อิตาลี แทนซาเนีย แอฟริกาใต้รวันดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร เมียนมา ประเทศละ 1 ราย อียิปต์ 5 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 22,644 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 7,302 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 12,824 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,518 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 15,331 ราย เพิ่มขึ้น 533 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมคงที่ 79 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อในประเทศตามพื้นที่เสี่ยง ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 63-5 ก.พ. 64 พบว่า จังหวัดสมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อ คิดเป็น 95.64% กรุงเทพมหานคร 3.14% จังหวัดอื่นๆ 1.22% สำหรับการตรวจเชิงรุกในชุมชนพบ ที่จังหวัดสมุทรสาคร 522 ราย เพชรบุรี 3 ราย เชื่อมโยงตลาดรถไฟใน จ.สมุทรสาคร และสระแก้ว 1 รายโดยเป็นหญิงสัญชาติกัมพูชา ตรวจค้นเป็นผู้ต้องขังแรกรับ โดยตรวจก่อนหน้านี้ตรวจ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ และมาพบเชื้อในการตรวจครั้งที่ 3
สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ยังต้องมีการตรวจค้นหาเชิงรุกและกระชับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีการวางมาตรการ Bubble & Seal โดยมีโรงงาน 1 แห่ง มีศักยภาพสามารถดำเนินการตามมาตรการ Seal โดยจัดพื้นที่ให้พนักงานพักอาศัยภายในโรงงาน ไม่ต้องเดินทางออกนอกโรงงาน ตามมาตรการปิดผนึกลดการแพร่ระบาดของโรค
และจัดพื้นที่ Bubble เขตเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 7 โรงงาน ส่วนใหญ่อยู่ใน ต.ท่าทราย และ ต.นาดี ซึ่งไม่สามารถจัดพื้นที่ให้พนักงานพักอาศัยในโรงงานได้ แต่จัดที่พักให้พนักงานให้มีความสะอาดตามมาตรฐานเพื่อลดการแพร่เชื้อ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่และเจ้าของโรงงานจัดรถรับ-ส่ง ตามมาตรฐานเพื่อให้เกิดการแพร่เชื้อ
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ จังหวัดสมุทรสาคร จะมีการประชุมกับผู้ประกอบการ คณะกรรมการโรคติดต่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการเปิดเมืองและชุมชน รวมถึงตลาดกลางกุ้งด้วย
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พญ.อภิสมัย ได้ยกตัวอย่างปัจจัยเสี่ยงจากงานเลี้ยงที่จัดในพื้นที่ส่วนตัว ในกรุงเทพฯ พบว่า งานเลี้ยงมีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 13 คน พบผู้ติดเชื้อ 10 คน บางงานมีผู้เข้าร่วมงาน 16 คนพบผู้ติดเชื้อทั้ง 16 คน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือมีประวัติดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากแก้วเดียวกันหลายครั้งจากการเล่นเกม อยู่ร่วมงานเป็นเวลานาน ใช้มือหยิบอาหารและน้ำแข็ง มีการเต้นรำใกล้ชิดกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกพบว่า 1-2 ดริ้งค์ จะเริ่มทำให้ผ่อนคลาย เฉื่อยชา การตอบสนองช้าลง ขาดการยับยั้งชั่งใจ และขาดการควบคุมตัวเอง จึงทำให้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเสนอถึงมาตรการดูแลผู้ที่เข้ามาใช้บริการ
นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อจากสถานที่ทำงาน ยกตัวอย่าง สำนักงานของคลินิกเสริมความงามที่มีพนักงาน 7 คน พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย แผนกหนึ่งในบริษัทมีพนักงาน 10 คนพบผู้ติดเชื้อ 5 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงพบว่า มาจากการรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยใกล้ชิดเป็นเวลานาน โดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะปฎิบัติงาน ดังนั้นแต่ละองค์กรต้องมีมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการติดเชื้อในองค์กร
พญ. อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.จะมีการทบทวนแนวทางการบริหารจัดการ State Quarantine สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ หลังพบข้อมูลว่าผู้ที่มีความเสี่ยงบางคนไม่สะดวกกักตัวที่บ้านตนเอง เนื่องจากอาจมีสมาชิกในบ้านหลายคนที่อยู่ร่วมกันมีการใช้ห้องน้ำหรือห้องนอนเดียวกัน ซึ่งบางคนอาจจะสมัครใจไปกักตัวใน State Quarantine หรือ Local Quarantine โดยศบค.จะรับฟังความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนหารือทางออกในเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการกักตัว เพื่อทำให้การกักตัวมีประสิทธิภาพต่อไป
ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อรวม 105,401,203 ราย ไทยอยู่อันดับที่ 115 ส่วนเมียนมา ซึ่งมีความไม่สงบในประเทศ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 117 ราย ทั้งนี้ทั่วโลก มีการฉีดวีคซีนไปแล้วกว่า 90 ล้านโดส ในผู้ติดเชื้อ 45 ล้านคน ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีนและอิสราเอล ซึ่งจากการฉีดวัคซีนนี้จะช่วยทำให้การติดเชื้อ การแพร่ระบาด และความรุนแรงของโรคลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 64)
Tags: COVID-19, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19