นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ในปี 64 ธนาคารมีแนวโน้มตั้งสำรองลดลงสวนทางกับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้น เนื่องจากปี 63 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นไปสูงมากทำให้อัตราส่วนเงินสำรองฯต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นไปสูงที่ระดับ 175% และในปีนี้ธนาคารก็ยังจะตั้งสำรองฯ ต่อเนื่อง แต่จะลดลงจากปีก่อน เพื่อรักษาระดับ Coverage ratio ให้ใกล้เคียงกับปีก่อน
สำหรับ NPL ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 2.7% จากปีก่อนที่ 2.9% ซึ่งถือเป็นระดับ NPL ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆในระบบ ซึ่งธนาคารยังคงบริหารจัดการและดูแลคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงในเรื่องของลูกค้าส่วนหนึ่งที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้รอบที่ 2 ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าลูกค้าที่พักชำระหนี้ในรอบที่ 2 นั้นจะกลับมาชำระคืนหนี้ได้มากหรือน้อยเพียงใด ทำให้ธนาคารยังประเมินความเสี่ยงของ NPL ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้
ด้านการเติบโตของสินเชื่อในปี 64 ที่ธนาคารตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 3-5% นั้นส่วนใหญ่การเติบโตในปีนี้จะมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะมีการเติบโตมากที่สุด 5-6% เนื่องจากธนาคารมองว่ากลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความต้องการใช้สินเชื่อที่มาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนรองรับการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตหลังจากที่โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว อีกทั้งในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวก็เป็นโอกาสที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเดินหน้าเข้าลงทุนหรือซื้อกิจการต่างๆ มาเสริมหรือต่อยอดกับกิจการที่ทำอยู่ และกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้ในปี 64 ธนาคารจะหันมารุกการเติบโตสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น
ส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 64 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตเท่ากันที่ 3-4% แม้ว่าโดยปกติธนาคารจะมีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในส่วนของสินเชื่อรายย่อย แต่ในปี 64 ยังมีความไม่แน่นอนยจากปัจจัยโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และมีผลต่อกำลังซื้อของประชาชน ทำให้ธนาคารไม่เร่งรุกการเติบโตสินเชื่อรายย่อยเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีความอ่อนไหวอยู่มากจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินเชื่อทั้ง 2 กลุ่ม ธนาคารจะดำเนินการระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบของคุณภาพหนี้
นายเซอิจิโระ กล่าวถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีของธนาคารว่า ยังคงเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของการทำงาน และการบริการลูกค้าของธนาคารให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆที่เป็นโอกาสนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริมให้กับการทำงานของธนาคาร โดยตั้งงบลงทุนด้านเทคโนโลยีในช่วงปี 64-66 เฉลี่ยอยู่ที่ 8-8.5 พันล้านบาท/ปี
ส่วนความคืบหน้าการนำ “เงินติดล้อ” เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ยื่นไฟลิ่งให้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วเมื่อกลางเดือนธ.ค. 63 คาดว่า ในช่วงกลางปี 64 จะมีความคืบหน้าจากทางก.ล.ต.ที่จะอนุมัติไฟลิ่งออกมา และคาดอย่างเร็วที่จะเสนอขาย IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้อาจจะเป็นช่วงปลายปี 64 หรืออย่างช้าต้นปี 65 ขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดหุ้นในช่วงนั้น
ส่วนราคาเสนอขายกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยที่หลังการเสนอขาย IPO “เงินติดล้อ” แล้วนั้น ธนาคารจะถือหุ้นใน “เงินติดล้อ” ลดลงเป็น 30% จากเดิมที่ 50% และจะยังคงระดับสัดส่วนการถือหุ้นไว้ในระดับดังกล่าวหลังจากนำ “เงินติดล้อ” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว
สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะกลาง ฉบับที่ 3 ของธนาคาร (ปี 64-66) มีความุ่งมั่นการขยายธุรกิจในระดับอาเซียนมากขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดโอกาสในการเติบโตใหม่ และช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ โดยปัจจุบันในส่วนของธนาคารลงทุนในประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว และเมียนมา ซึ่งเกือบครอบคลุมทั่วทั้งอาเซียนแล้ว
โดยที่ธนาคารยังมองโอกาสการเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม แม้ว่าจะมีการลงทุนของ MUFG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารอยู่แล้วในเวียดนามก็ตาม แต่ธนาคารมองว่ายังมีธุรกิจการเงินอื่นๆที่ธนาคารยังมีโอกาสเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมได้ และเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพให้กับ MUFG ที่ลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งธนาคารมองประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ จากแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนเติบโตขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 ก.พ. 64)
Tags: BAY, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, หุ้นไทย, เซอิจิโระ อาคิตะ