นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบมาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย มาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศและมาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้
- การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กรมการปกครองและกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดสถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนและนำไปจัดการอย่างถูกต้องภายใน 1 เดือน โดยกรมควบคุมโรคและกรมอนามัยจะเฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง
- ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้ใช้กฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 และให้กรมอนามัยออกกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้กิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมผลักดันให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎกระทรวงสาธารณสุข ภายใน 6 เดือนด้วย
- ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ทำโครงการนำร่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมให้สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรมด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และลดการใช้สารอันตรายในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดนี้ภายใน 12 เดือนด้วย
- การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 และประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 428 รายการ พร้อมให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เพื่อควบคุมชนิดและปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วที่เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ภายใน 6 เดือน
ขณะที่กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดระบบการตรวจสอบตู้บรรทุกสินค้าอย่างเข้มงวด ภายใน 6 เดือน เพื่อป้องกันการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมายหรือการสำแดงเท็จ พร้อมให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจกรรม ถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง โดยมีกรมควบคุมโรค และกรมอนามัย จะเฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่เกิดจากการประกอบกิจกรรม ถอดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้อง เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นไปตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2563 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (2 ก.พ. 64)
Tags: กรมศุลกากร, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, ขยะอิเล็กทรอนิกส์, ครม., อนุชา บูรพชัยศรี