นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดหาและการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประเทศวานนี้ (28 ม.ค.) โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบลำดับกลุ่มเป้าหมายตามที่คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกำหนดแผนการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้กำหนดไว้ 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รักษาระบบสาธารณสุขของประเทศฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน, ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
- ระยะที่ 2 ช่วงที่มีวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสซื้อโควิด-19 ผู้ประกอบอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก และผู้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้เดินทางระหว่างประเทศ
- ระยะที่ 3 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร และฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฉีดให้กับประชาชนทั่วไป
สำหรับวัคซีนลอตแรกที่คาดว่าจะได้รับจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในเดือนกุมภาพันธ์ จะเน้นในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง และกิจกรรมเสี่ยง ซึ่งจำนวนและรายชื่อเป้าหมายอยู่ระหว่างการสำรวจโดยสำนักงานสาธารณสุข ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่ และเตรียมการจัดส่งวัคซีนไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ส่วนวัคซีนของบริษัทซิโนแวค อยู่ระหว่างรอเอกสารข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.)
“วัคซีนที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่เข้าไปในสถานที่เสี่ยงและสถานที่แออัด แม้จะมีวัคซีนแล้ว เราก็ยังคงต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง โอกาสติดเชื้อจะลดลงได้มาก”
นายอนุทินกล่าว
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศ โดยกลุ่มที่ก้าวหน้ามากที่สุดมี 3 ชนิด คือ ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์, ชนิด Protein subunit (Plant-based) ของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชนิด DNA โดยบริษัทไบโอเนท เอเชีย อยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือ หรือพัฒนาศักยภาพการขยายขนาดการผลิต เพื่อผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในอาสาสมัคร
ส่วนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านโครงการ COVAX Facility อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง และความร่วมมือแบบทวิภาคี ปัจจุบันได้จัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคีกับบริษัทแอสตร้าเซนเนกา ที่ได้สั่งจองไว้ 26 ล้านโดส รัฐบาลมีมติสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส และยังมีการดำเนินการจัดหาวัคซีนจากประเทศจีนเพิ่มเติม 2 ล้านโดส
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19