ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า กำลังซื้อที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ยังส่งกดดันต่อการโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ต้นปี จากในปีก่อนการโอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 191,000 หน่วย หรือลดลง 7.4% จากปีก่อน 62
ส่วนในปี 64 แม้มีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มาต่อเนื่อง แต่ยังมองว่ายอดโอนจะลดลงจากปีก่อน 3.1-4.7% หรือคิดเป็น 182,000-185,000 หน่วย ถือเป็นระดับต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและการจ้างงาน เป็นปัจจัยกดดันอย่างมีนัยสำคัญ
ต้นปีภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับปัจจัยหนุนจากการต่ออ่ยุการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 2% เป็น 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 1% เป็น 0.01% ของมูลค่าจดจำนอง โดยเป็นการซื้อจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงสิ้นปี 64
โดยการต่ออายุมาตรการดังกล่าวถือได้เข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่จะซื้อที่อยู่อาศัยได้สูงถึง 8.94 หมื่นบาท เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมปกติ (คิดจากราคาที่อยู่อาศัย 3 ล้านบาท) ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้ที่กำลังมองหาซื้อที่อยู่อาศัยได้ อีกทั้งยังส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ในการเดินหน้าธุรกิจท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว
ขณะที่ปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ซื้อแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายจะสามารถเร่งระบายที่อยู่อาศัยที่รอขายสะสมในตลาดที่ยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยเหลือขายประเภทคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่คิดเป็นสัดส่วนเหลือขายรวมกันสูงถึง 57% ของที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวน 226,645 หน่วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 64)
Tags: ขายบ้าน, ที่อยู่อาศัย, บ้าน, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, อสังหาริมทรัพย์