เงินบาทเปิด 29.96 ต่อดอลล์ แข็งค่าจากวานนี้ หลังดอลล์อ่อนก่อนรู้ผลประชุมเฟด

นลท.จับตามาตรการ QE

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 29.96 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 29.99 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากวานนี้ เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก หลังมีปัจจัยหนุนจากแรงเทขายดอลลาร์ในตลาดโลก สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อตลาดเงินในช่วงนี้ คือผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดยังคงมาตรการ QE ไว้ตามเดิม

“บาทแข็งค่าตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมา”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 29.90-30.00 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (26 ม.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.32301% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.35220%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 103.62 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 103.79 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2164 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.2122 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 29.973 เยน/ดอลลาร์
  • เอกชนหลายองค์กรนัดถก ‘อนุทิน’ หารือพาสปอร์ตวัคซีน เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว แก้ปัญหาการท่องเที่ยวในประเทศ ระบุตอนนี้ตกงานแล้ว 1.5-2 ล้านคน จากปิดกิจการและลดพนักงาน วอนรัฐเร่งเยียวยา
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปี 64 การแพร่ระบาด โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญกดดันการท่องเที่ยวไทยและธุรกิจบริการ โดยเฉพาะโรงแรมและที่พักทำให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักในปี 64 ยังไม่ผ่านพ้นวิกฤติคาดมี 20% ของโรงแรมใน 20 จังหวัดหรือ 3,700 แห่ง เสี่ยงปิดกิจการส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา และกระบี่ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาสแรกของปี 64 อาจมีการปิดเพิ่มอีก 10,100 แห่ง สำหรับโรงแรมและที่พักทั่วประเทศมี 30,400 แห่ง จำนวนห้องพัก 1.12 ล้านห้อง ในจำนวนนี้โรงแรมและที่พัก 20 จังหวัด มีทั้งสิ้น 18,400 แห่ง คิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ 8.3 แสนหน่วย คิดเป็น 72.4% ของจำนวนห้องพักทั่วประเทศ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีโรงแรมและที่พักเปิดให้บริการ 50-55% ที่เหลือยังไม่เปิดให้บริการ
  • รมว.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงทะเบียนโครงการเราชนะว่า ขณะนี้ธนาคารกรุงไทย ได้พัฒนาระบบลงทะเบียนเราชนะผ่าน www.เราชนะ.com เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.นี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ส่วนผู้ใช้ที่ใช้บริการแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และมีสิทธิรับเงินเราชนะ ให้ตรวจสอบสิทธิตัวเองว่ามีสิทธิผ่านแอป “เป๋าตัง” หรือผ่านเว็บไซต์เราชนะว่าได้หรือไม่ และเมื่อมีสิทธิก็ให้ยืนยันสิทธิผ่านเว็บได้ทันที
  • Conference Board เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89.3 ในเดือนม.ค. จากระดับ 87.1 ในเดือนธ.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 89.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 ม.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยนักลงทุนรอดูว่าเฟดจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน ต่อไปหรือไม่
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (26 ม.ค.) โดยทำสถิติปิดในแดนลบติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบกว่า 8 เดือน เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อคืนนี้
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) โดยปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 สู่ระดับ 5.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 5.2% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2565 จะขยายตัว 4.2% พร้อมระบุว่า การอนุมัติวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนมากขึ้น และการฉีดวัคซีนในวงกว้างในประเทศต่างๆในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ได้ช่วยหนุนความหวังที่จะเห็นการยุติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้เป็นปัจจัยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
  • ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2563 (ประมาณการเบื้องต้น), ยอดขายบ้านใหม่เดือนธ.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนธ.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนธ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top