นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ลงนามในบันทึกการส่งมอบ – รับมอบอาคารพักอาศัย 8 ชั้น ขนาด 100 ครอบครัวจำนวน 1 หลัง มูลค่า 60.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นอาคารชดเชยตามโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ให้กรมศุลกากรเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการ
การดำเนินการก่อสร้างอาคารพักอาศัยกรมศุลกากรดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ซึ่งกำหนดให้กิจการร่วมค้าฯ บมจ. ยู ซิตี้ (U) บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และบริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ รีสอร์ทส์ ลิมิเต็ด ผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาโครงการ จะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารชดเชยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบังคับการตำรวจน้ำ) และก่อสร้างอาคารพักอาศัย 8 ชั้น ขนาด 100 ครอบครัว จำนวน 1 หลัง ชดเชยให้กรมศุลกากร
ปัจจุบันกิจการร่วมค้าฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารชดเชยเสร็จเรียบร้อยแล้วและส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินการส่งมอบอาคารชดเชยดังกล่าวให้กรมศุลกากรเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ จะต้องก่อสร้างอาคารโรงแรมพร้อมปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถานให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 นั้น กิจการร่วมค้าฯ ได้รับการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรูปแบบการบูรณะอาคารโบราณสถานจากกรมศิลปากรแล้ว รวมทั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณางานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสามแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างกรมศิลปากรพิจารณาอนุญาตการบูรณะกลุ่มอาคารศุลกสถาน ทั้งนี้ กรมธนารักษ์จะได้ติดตามกำกับดูแลโครงการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
“ตามแผนการลงทุนดังกล่าว กิจการร่วมค้าฯ จะต้องเริ่มลงมือก่อสร้างอาคารโรงแรม พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี และจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยระหว่างนี้ กรมธนารักษ์จะติดตามกำกับดูแลโครงการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมทุน เพื่อให้บริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”
นายยุทธนา กล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเดิม เนื้อที่ 63-2-65 ไร่ มูลค่าลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท กรมฯ ยังยืนยันจะเดินหน้าตามแผนการลงทุนเดิม โดยในช่วงต้นเดือน ก.พ.64 จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ,กรมการขนส่งทางบก, และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มาหารือเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่มีประชาชนในพื้นที่เรียกร้องไม่ให้มีการเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการลงทุนต่าง ๆ ทั้งหมด โดยมั่นใจว่าในส่วนนี้จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตนั้น ตามแผนการลงทุนจะมีการก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) คู่สัญญาได้ ซึ่งปัจจุบันได้ออกแบบและจัดทำ EIA เรียบร้อยแล้ว รูปแบบโครงการจะเป็นลักษณะผสมผสาน (Mixed-use) ประกอบด้วย พื้นที่ชดเชยให้ราชการ (สถานีขนส่งผู้โดยสารและพื้นที่ราชการ) และพื้นที่เชิงพาณิชย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 64)
Tags: กรมธนารักษ์, กระทรวงการคลัง, ที่ราชพัสดุ, ยุทธนา หยิมการุณ