สธ. แจงกลุ่มเป้าหมายตามแผนฉีดวัคซีนต้านโควิดล็อตแรกปลายก.พ.นี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และคณะ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อรายงานแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 หากวัคซีนถึงประเทศไทย โดยใช้เวลาหารือราว 1 ชั่วโมง

นายอนุทิน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดำเนินการจัดหาวัคซีนอย่างรวดเร็ว โปร่งใส เน้นความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้ทางกระทรวงได้รับวัคซีนที่ชัดเจนและผ่านมาตรฐาน อย.แล้ว คือ วัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส ที่จะมาถึงไทยในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนของบริษัทอื่นๆ อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งบริษัท ซิโนแวก ไบโอเทค พร้อมเจรจา เพียงแต่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียน อย.ก่อน

นายอนุทิน ยืนยันว่า คนไทยจะรับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ไม่มีเรื่องของการเหลื่อมล้ำ และไม่มีแรงกดดันทางการเมือง หรือ มีอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่สำคัญการที่รัฐบาลไม่ขัดข้องให้ท้องถิ่นจัดงบประมาณซื้อวัคซีนเองก็ไม่ใช่เป็นการผลักภาระให้กับท้องถิ่นโดยตรง แต่รัฐบาลต้องการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

สำหรับแผนฉีดวัคซีนจะกำหนดให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก่อน และเมื่อตัวเลขนิ่งก็จะฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศภายใน 1 ปี และการฉีดวัคซีนครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า เมื่อวัคซีนมาถึงประเทศไทยล็อตแรกปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จะต้องนำมาจัดสรร และจัดส่งการฉีดต่อไป โดยหากโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอในการฉีดก็จะขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนให้ฉีดบริการฟรี และการฉีดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยกลุ่มที่ 1 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปหรือกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เบาหวาน โรคปอด กลุ่มที่ 2 บุคคลากรทางการแพทย์ หรือ อสม. และหลังจากนั้นจะดูพื้นที่สีแดงที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก โดยจะไม่ฉีดให้เด็กและสตรีมีครรภ์ และจะมีการกำหนดช่วงอายุในการรับวัคซีน คือ ตั้งแต่ 16-18 ปีขึ้นไปเพื่อความปลอดภัย

ส่วนคณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มแรกหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นพ.โสภณกล่าวว่า เป็นสิทธิที่ควรได้ฉีดตามกลุ่มเป้าหมาย แต่จะฉีดหรือไม่อยู่ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตัดสินใจ

ส่วนที่มีการแชร์ข่าวว่าใครฉีดหรือทำศัลยกรรมบนหน้าจะมีผลข้างเคียงในการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่น่าใช่เรื่องจริง ต้องมีการตรวจสอบ เพราะขณะนี้เป็นเพียงการแชร์ข้อมูลทางโซเซียลเท่านั้น เพราะวัคซีนแต่ละตัวมีข้อบ่งชี้ ข้อห้ามแตกต่างกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top