น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สนค.ได้ประเมินสถานการณ์เบร็กซิทหลังสหราชอาณาจักร (UK) แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 พบว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทย เพราะ UK จะปรับโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ภายหลังแยกตัวออกมาให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน
จากเดิมที่ใช้อัตราภาษีเดียวกับ EU โดยได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือน สินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตในห่วงโซ่การผลิต และสินค้าที่ UK ไม่สามารถผลิตได้เอง รวมถึงสินค้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น ขวดสุญญากาศ หลอกไฟ LED อีกทั้งยังยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวให้กับยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้การค้าขยายตัวมากขึ้น
“สินค้าไทยจะได้รับประโยชน์จากภาษีใหม่ โดยมีกลุ่มสินค้าเพิ่มเติมอีก 732 รายการที่ UK ยกเว้นการเก็บภาษี จากเดิมมีเพียง 792 รายการ รวมเป็น 1,524 รายการ สินค้าที่จะได้ประโยชน์ เช่น ไก่แปรรูป ถุงมือยาง รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย ซอสปรุงรส อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น”
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) กับ UK โดยล่าสุดได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจา ขณะเดียวกัน UK มีเป้าหมายมุ่งหาพันธมิตรทางการค้าให้ครอบคลุม 80% ของสัดส่วนการค้าทั้งหมด ภายใน 3 ปี ซึ่งหากไทยบรรลุข้อตกลง FTA กับ UK ได้ จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด UK ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อัญมณี เครื่องเงิน เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.63 ไทยส่งออกไป UK 2,828 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 20.8% จากช่วงเดียวกันของปี 62 คิดเห็นสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปโลก หรือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 20 ของไทย ขณะที่ไทยนำเข้าจาก UK 1,643 ล้านเหรียญฯ หดตัว 26.7% โดยไทยเกินดุลการค้า 1,185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 64)
Tags: Brexit, กระทรวงพาณิชย์, การค้าระหว่างประเทศ, พิมพ์ชนก วอนขอพร, ภาษี, สหราชอาณาจักร, สินค้าไทย, อังกฤษ